BEM ขานรับนโยบายรัฐ เตรียมเปิดขายคูปองขึ้นทางด่วนฝั่งธนฯ ‘ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ’ ราคาเดิม ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้
BEM พร้อมสนับสนุนนโยบายกระทรวงคมนาคม ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน คงอัตราค่าผ่านทางเดิม 1 ปีโดยการจำหน่ายคูปองในราคาพิเศษ ดีเดย์วันที่ 1 ธ.ค. 64-30 พ.ย. 65 ณ อาคารด่านทั้ง 9 แห่ง สามารถใช้คูปองได้ตั้งแต่ 15 ธ.ค. 64-15 ธ.ค. 65
รายงานข่าวจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยถึงกรณีแนวทางการลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษศรีรัช–วงแหวนรอบนอกฯ ว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์วิกฤต การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน BEM มีความห่วงใยในความเดือดร้อนของประชาชน จึงพร้อมสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนโดยการคงอัตราค่าผ่านทางเดิม ด้วยการชำระค่าผ่านทางในรูปแบบคูปอง เป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 64 -15 ธ.ค. 65
สำหรับคูปองดังกล่าว จะจำหน่ายเป็นเล่ม เล่มละ 20 ใบ ดังนี้
รถ 4 ล้อ
- ราคาปกติ 1,300 บาท/เล่ม
- ราคาจำหน่าย 1,000 บาท/เล่ม
รถ 6-10 ล้อ
- ราคาปกติ 2,100 บาท/เล่ม
- ราคาจำหน่าย 1,600 บาท/เล่ม
รถมากกว่า 10 ล้อ
- ราคาปกติ 3,000 บาท/เล่ม
- ราคาจำหน่าย 2,300 บาท/เล่ม
โดยเปิดจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2564 – 30 พ.ย. 2565 เวลา 05.00-22.00 น. ณ อาคารด่าน ทางพิเศษศรีรัช–วงแหวนรอบนอกฯ 9 ด่าน ได้แก่ ด่านบางซื่อ 1 กำแพงเพชร 2 สะพานพระราม 7 บางกรวย บางพลัด บางบำหรุ บรมราชชนนี ตลิ่งชัน และฉิมพลี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 025550255 ศูนย์ควบคุมทางพิเศษศรีรัช–วงแหวนรอบนอกฯ
สำหรับทางพิเศษศรีรัช–วงแหวนรอบนอกฯ (บางซื่อ–ฉิมพลี) ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) เป็นทางพิเศษเส้นทางโครงข่ายนอกเมือง การก่อสร้างใช้เงินลงทุนสูง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2559 อำนวยความสะดวกใน การเดินทางของประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวกรุงเทพและกรุงธนสามารถเดินทางไปยังจุดหมายด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งการปรับอัตราค่าผ่านทางครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นทุกๆ 5 ปี ไม่ได้เป็นการปรับอัตราค่าผ่านทางทุกปีซึ่งครบกำหนดในวันที่ 15 ธ.ค. 2564
โดยปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ รถประเภท 6-10 ล้อและรถมากกว่า 10 ล้อ เป็นไปตามสัญญาสัมปทานการลงทุนในการออกแบบก่อสร้าง บริหาร และการบำรุงรักษาโครงการทางพิเศษฯ กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทั้งนี้ BEM ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการให้บริการโครงข่ายทางพิเศษ เพื่อส่งมอบบริการที่ปลอดภัยและสร้างความสุขแก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษอย่างต่อเนื่อง