‘ศักดิ์สยาม’ ปาฐกถาพิเศษ ‘ส่อง! อนาคตคมนาคมไทย’ กางแผนปี 65 อัดงบ 1.4 ล้านล้าน ขับเคลื่อนเมกะโปรเจ็กต์ ‘บก-น้ำ-ราง-อากาศ’ 40 โครงการ
“ศักดิ์สยาม” เปิดแผนคมนาคมปี 65 ในงานสัมมนา Thailand’s Opportunity ในโอกาส Transport Journal ครบรอบ 24 ปี ชี้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวหลังโควิด-19 เตรียมอัดเมกะโปรเจ็กต์ 40 โครงการ “บก–น้ำ–ราง–อากาศ” มูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้าน หนุนโครงสร้างพื้นฐาน นำทัพการลงทุนภาครัฐ อัดเม็ดเงินลงระบบเศรษฐกิจ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand’s Opportunity : เปิดโอกาสประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ส่อง! อนาคตคมนาคมไทย” ในโอกาสหนังสือพิมพ์ Transport Journal ครบรอบ 24 ปี วันที่ 28 ต.ค. 2564 ว่า จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโคโรนา 2019 (โควิด-19) ต้องยอมรับว่า ตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลให้ทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงันด้านเศรษฐกิจโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้วิเคราะห์ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหดตัวถึง3.3% และเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้นในปีนี้ โดยคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ อยู่ที่ 6.0 และในปี 2565 ประมาณการขยายตัวอยู่ที่ 4.4%
สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของไทยเป็นอย่างมาก สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการอัตราหดตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ที่ 6.1% กล่าวคือ ลดลง 6.1% จากปี 2562 โดยเครื่องจักรเศรษฐกิจทุกตัวมีอัตราการหดตัว ยกเว้นการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐที่ยังเป็นส่วนสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ สศช. ได้คาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2564 อยู่ที่ 0.7-1.2% สืบเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการฟื้นตัวของภาคเอกชนภายในประเทศ สอดคล้องกับธนาคารโลก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ 2.2%
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้ภาคเอกชนและภาคธุรกิจฟื้นตัวจากสถานการณ์ดังกล่าวภาครัฐเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐ เพื่อให้เครื่องจักรเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนภาคเอกชน สามารถฟื้นตัวได้อย่างเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าของประเทศไทยในปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 สอดคล้องกับข้อมูลปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้า ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งมีปริมาณที่ลดลงในช่วงปี 2563
ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภาพรวม พบว่าได้รับผลกระทบโรคไวรัสโควิด-19 อย่างมาก โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงคิดเป็น 83% เทียบกับก่อนเกิดการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะลดลงคล้ายกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวลงคิดเป็น 83% เช่นกัน
ทั้งนี้ โครงการลงทุนที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมนั้น รัฐบาลได้ทำการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยอาศัยการลงทุนของภาครัฐ เพื่อเป็นเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่นอกจากเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งทั้งคนและสินค้า ช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง เป็นผลทำให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคม ซึ่งถือเป็นภาครัฐที่มีส่วนขับเคลื่อนเม็ดเงินการลงทุนในประเทศ ได้กำหนดแผนงานในปี 2565 จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 แบ่งเป็น1.สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและหลังจากโควิด-19 คลี่คลายลง และ 2.โครงการลงทุนที่สำคัญของกระทรวงคมนาคมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
สำหรับโครงการลงทุนที่สำคัญด้านคมนาคม ประกอบด้วย 4 มิติ ครอบคลุมภาคขนส่งทางถนน ขนส่งทางราง ขนส่งทางน้ำ และขนส่งทางอากาศ โดยมูลค่าลงทุนโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคมปี 2565 รวม 40 โครงการมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท และ โครงการลงทุนใหม่ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ โครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว ดำเนินการขับเคลื่อนต่อในปี 2565 ในวงเงิน 5.16 แสนล้านบาทนั้น ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน 1 โครงการ 32,220 ล้านบาท, การขนส่งทางบก 1 โครงการ 2,864 ล้านบาท, การขนส่งทางราง 7 โครงการ 476,154 ล้านบาท และการขนส่งทางอากาศ 4 โครงการ 5,716 ล้านบาท
ส่วนโครงการลงทุนใหม่ของกระทรวงคมนาคม ปี 2565 วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนน จำนวน 12 โครงการ 281,205 ล้านบาท, การขนส่งทางบก จำนวน 1 โครงการ 1,361 ล้านบาท, การขนส่งทางราง จำนวน 5 โครงการ 624,879 ล้านบาท, ทางน้ำ จำนวน 5 โครงการ 7,561 ล้านบาท และทางอากาศ จำนวน 4 โครงการ 59,488 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงานสัมมนาออนไลน์ Virtual Seminar Online By Transport Journal หัวข้อ Thailand’s Opportunity : เปิดโอกาสประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนนั้น จัดขึ้นในโอกาสที่หนังสือพิมพ์ Transport Journal ครบรอบ 24 ปี โดยได้มีการสะท้อนถึงมุมมองและนโยบายต่างๆ ในทุกด้านอย่างครอบคลุม ทั้งการคมนาคม ขนส่ง โลจิสติกส์ การค้า การลงทุน การส่งออก
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาพิเศษเจาะลึกถึงโครงการสำคัญด้านคมนาคมในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ความคืบหน้าของโครงการเศรษฐกิจอีอีซี รวมทั้งการค้า การส่งออก และโลจิสติกส์ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนแตเป็นฟังเฟืองสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับความคืบหน้าด้านคมนาคมในโครงการต่างๆ ได้รับเกียรติจากนายชยธรรม์พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม จะมาพูดภายใต้หัวข้อ “เปิดมิติ”คมนาคม”สร้างโอกาสประเทศไทย ที่จะมาเปิดโครงการด้านคมนาคมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น บก–น้ำ–อากาศ และราง รวมทั้งเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากนายวรวุฒิ มาลา ที่ปรึกษาพิเศษด้านโครงการ รถไฟความเร็วสูงและ TOD สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้หัวข้อ”กางแผนโปรเจ๊กต์ “EEC” กระตุ้นการลงทุน” ซึ่งมาพร้อมกับความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซี และหลายโครงการที่อยู่ในความสนใจ สำหรับภาคเอกชน ได้รับเกียรติจาก ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออก) จะมาฉายภาพการส่งออกไทย ภายใต้หัวข้อ จับตา”ส่งออกไทย”ความหวังในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ
ขณะที่ นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้เจาะลึกภายใต้หัวข้อ อุตสาหกรรม”โลจิสติกส์ “เครื่องยนต์ตัวใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย รวมถึงการสะท้อนมุมมองของเทรนด์โลจิสติกส์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งการแนวทางการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้โลจิสติกส์ไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล ปิดท้ายที่นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย–จีน ร่วมเสวนา หัวข้อ “เปิดโอกาสการค้าเชื่อมความสัมพันธ์นักลงทุนจีน” ซึ่งมีหลายเรื่องที่ต้องจับตาการค้าไทยจีนนอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ งานสัมมนา Virtual Seminar Online By Transport Journal หัวข้อ Thailand’s Opportunity : เปิดโอกาสประเทศไทย ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ได้รับสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ ทอท.