วิจารณ์ได้! รฟม. เปิดให้สาธารณชน-ผู้ประกอบการ วิจารณ์-เสนอแนะร่าง TOR รถไฟฟ้าสายสีม่วง ‘ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ’ 28 ต.ค.-1 พ.ย.นี้

รฟม. เผยแพร่ร่างประกาศ-ร่าง TOR จ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง “ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ” (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยวิธีประกวดราคานานาชาติ ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง) เปิดช่องทางสาธารณชน-ผู้ประกอบการวิจารณ์ 28 ต.ค.-1 พ.ย.นี้ ยันแผนตอกเข็มปี 65 เปิดให้บริการปี 70

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่า ตามที่ รฟม. ได้เผยแพร่ร่างประกาศ และร่างเอกสารประกวดราคา (ร่าง TOR) สำหรับการประกวดราคานานาชาติ (International Competitive Bidding: ICB) ในการก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง (e-GP) และเว็บไซต์ของ รฟม. เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนและผู้ประกอบการเสนอแนะ วิจารณ์ร่าง TOR ระหว่างวันที่ 28 ก.ย.-4 ต.ค. 2564 ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยมีผู้ให้ความคิดเห็นต่อร่าง ToR รวม 9 ราย และมีข้อสังเกตของคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) นั้น

ทั้งนี้ รฟม. พิจารณาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อสังเกตของคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) รวมทั้งให้การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ รฟม. และสอดคล้องกับหลักการคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ รฟม. จึงได้ดำเนินการปรับปรุงร่าง TOR และจะเผยแพร่ร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคา (ร่าง TOR) สำหรับการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยการประกวดราคานานาชาติ ครั้งที่ 2 (ฉบับปรับปรุง) ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมบัญชีกลาง (e-GP) และเว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th ทั้งนี้ รฟม. ได้เปิดให้สาธารณชนและผู้ประกอบการสามารถเสนอแนะ วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นต่อร่าง TOR ได้ในระหว่างวันที่ 28 ต.ค.-1 พ.ย. 2564

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นโครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างนนทบุรี กับกรุงเทพมหานครฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี รวมถึงสมุทรปราการ เข้าด้วยกัน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างในปี 2565 และเปิดให้บริการในปี 2570