ทางด่วน ‘กระทู้-ป่าตอง’ อืด! ดันค่าเวนคืนพุ่ง 7.6 พันล้าน

ทางด่วน “กะทู้-ป่าตอง” ค่าเวนคืนพุ่ง 7.6 พันล้าน เคาะเปิดประมูล PPP Net Cost ด้านบอร์ดกทพ. จ่อยกเลิกแผน Set Zero ค่าโง่ทางด่วน

แหล่งข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ตว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเห็นชอบการปรับเปลี่ยนร่างขอบเขตการประกวดราคา หรือ ทีโออาร์แล้ว โดย กทพ.จึงได้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด เพื่อขออนุมัติทีโออาร์ก่อนส่งไปยังคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ บอร์ด PPP พร้อมตั้งคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนเอกชนฯ พ.ศ. 2556 ขึ้นมาตรวจสอบร่างขอบเขตทีโออาร์ เพื่อส่งเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ต่อไป เนื่องจากความล่าช้าในโรงการดังกล่าวส่งผลให้วงเงินในการลงทุนเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าเวนคืนที่ดินซึ่งพุ่งสูงถึง 7.6 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1-2 พันล้านบาทจากเดิมอยู่ที่ 5.6 พันล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่แปลงงามอย่างป่าตองนั้นมีราคาต่อไร่สูงกว่า 250 ล้านบาทเข้าไปแล้ว เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีแนวก่อสร้างชัดเจนส่งผลให้มีการเข้าเกร็งกำไรที่ดินกันอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ราคาสูงแบบในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน ค่าก่อสร้างยังเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันที่ 1 พันล้านบาท จากค่าวัสดุก่อสร้างและต้นทุนอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้นตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้โครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุนใหม่ทั้งหมด 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 8.4 พันล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7.6 พันล้านบาท จากเดิมมีวงเงินลงทุนทั้งหมด 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับแนวทางการเปิดประมูลโครงการนั้น ได้ข้อสรุปแล้ว คือ จะใช้รูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP Net Cost คือรัฐบาลลงทุนเวนคืนที่ดิน 7.6 พันล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนงานก่อสร้าง งานระบบบริหารและบำรงรักษาทั้งหมด โดยจัดสรรรายได้ต่อปีให้รัฐบาลตามที่ตกลงกัน ทั้งหมดนี้จะเดินหน้าเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอในฝ่ายต่างๆก่อนจะเคาะประมูลได้ในช่วงปลายปีนี้ ส่วนด้านทีโออาร์ที่มีการปรับแก้ไขนั้นได้ขยายอายุสัมปทานใหม่เป็น 35 ปี จากเดิม 30 ปี ควบคู่ไปกับการปรับลดค่าผ่านทางเพื่อจูงใจให้ประชาชนมาใช้มากขึ้น จากเดิม รถยนต์ 4 ล้อ ราคา 20 บาท และ รถจักรยานยนต์ ราคา 15 บาท โดยจะมีการปรับให้ค่าผ่านทางทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์เท่ากันที่ 15 บาทหรืออาจปรับลดค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ลงไปอีกหากมีความเหมาะสม

ด้านแหล่งข่าวจาก บอร์ด กทพ. กล่าวถึงในส่วนของความคืบหน้าเรื่องการชำระค่าชดเชยทางด่วนให้กับเอกชนวงเงิน 4 พันล้านบาทว่า ในที่ประชุมบอร์ดได้มีการถกประเด็นกันในหลากหลายด้านถึงความเหมาะสมในการขยายสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี ออกไปอีก 37 ปี เพื่อแลกกับคดีฟ้องร้องทั้งหมดในชั้นศาลและหนี้สินค้างชำระ วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท (Set Zero) นั้น บางฝ่ายยังมองว่าไม่เหมาะสมที่จะยกรายได้จำนวนมหาศาลให้กับเอกชนสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ดังนั้นนายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ด กทพ.จึงได้สรุปข้อคิดเห็นพร้อมเสนอให้การประชุมบอร์ดในครั้งหน้านั้นพิจารณาเรื่องการยกเลิกมติที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ว่าด้วยเรื่องการเซ็ตซีโร่ค่าโง่ทางด่วน หากได้รับการอนุมัติจะเดินหน้าตั้งคณะกรรมการศึกษาร่วมกันทุกภาคส่วนทั้งฝั่งของคณะกรรมการ ฝั่งผู้บริการไปจนถงตัวแทนจาก สร.กทพ.เพื่อให้ได้ข้อสรุปและมีความเข้าใจร่วมกันถึงแนวทางดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายผู้บริหาร กทพ.มองว่าการเซ็ตซีโร่นั้นจะเป็นการลดความเสี่ยงการสูญเสียรายได้ทั้งหมดของกทพ.ในอนาคต เองจากคดีที่มีการฟ้อวร้องกันถึง 1.3 แสนล้านบาทนั้นมีโอกาสน้อยมากที่ กทพ.จะชนะในการต่อสู้คดีอีกทั้งเมื่อดูจากรายได้ในแต่ละปีแล้วด้วยตัวเลขดังกล่าวคงต้องเป็นการกู้เพื่อมาชำระให้เอกชน ประกอบกับการนำทางด่วนส่วนดังกล่าวมาบริหารเองนั้น พบว่าต้นทุนดำเนินการแทบจะไม่แตกต่างจากการให้เอกชนบริหารอีกทั้งยังได้ทางด่วนสองชั้น เพื่อแก้ไขปัญหารถติดและปริมาณรถยนต์ล้นทางด่วนในช่วงเช้าและเย็นอีกด้วย