“กรมพัฒน์ฯ” เร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในไทย คาดปี 63 ทะลัก 13 ล้านคน

กระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาธุรกิจดูแลผู้สูงอายุขาดแคลน  ไม่ได้มาตรฐาน หลังพบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุโตไม่ทันความต้องการของตลาด และไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้น เบื้องต้นเน้นพัฒนาให้ธุรกิจมีการบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนในธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น รองรับความต้องการใช้บริการที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด คาดปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุทะลุ 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ มั่นใจ…ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างเต็มรูปแบบในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้ โดยคาดว่าในปี 2563 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ราว 13 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ (ที่มา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก เช่น ไอซ์แลนด์ และฟินแลนด์ เป็นต้น

จึงเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยเนื่องจากมีความพร้อมและมีความได้เปรียบหลายด้าน เช่น คนไทยมีหัวใจรักบริการ ค่าใช้จ่ายมีความสมเหตุสมผล มีสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่พักผ่อนหลากหลาย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีสถานบริการทางการแพทย์และสถานบริการสุขภาพที่ครบครัน ซึ่งจากองค์ประกอบที่ครบถ้วนนี้ ทำให้ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุของไทยสามารถตอบโจทย์ผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกได้ครบทุกมิติ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และทักษะการจัดการบริการ ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยการพยาบาล นักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ และนักกิจกรรมบำบัด อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ คือ สถานบริการบางแห่งยังไม่ได้มาตรฐาน การดำเนินงานยังคงพบปัญหาข้อร้องเรียนต่างๆ เช่น ผู้ให้บริการไม่รับผิดชอบดูแลผู้สูงอายุให้เพียงพอ ฯลฯ หรือในกรณีผู้สูงอายุเสียชีวิต ณ สถานประกอบการ ควรต้องดำเนินการอย่างไร เนื่องจากยังไม่มีเกณฑ์มาตรฐานสถานดูแลผู้สูงอายุที่จะให้คำตอบเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว

อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้เข้ามาดูแลเรื่องมาตรฐานการบริหารจัดการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐานคุณภาพการบริหารจัดการธุรกิจ ประกอบด้วย 1.การสร้างองค์ความรู้ และเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการ 2.พัฒนาธุรกิจบริการสู่เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพตามแนวทางของรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award : TQA) และ 3.สร้างโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่มีศักยภาพกับตลาดผ่านแพลทฟอร์ม หรือ ช่องทางการตลาดของกลุ่ม Startup ที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ โดยการนำเสนอธุรกิจในงานแสดงธุรกิจ STYLE 2019 ที่กำลังจะจัดขึ้นในเดือน เม.ย.62 นี้ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR ในการนำเสนอธุรกิจบริการสุขภาพ (สปา นวดเพื่อสุขภาพ และธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ) จำนวน 50 ราย เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการนำเสนอธุรกิจบริการให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนได้ไปเยือนสถานที่จริง ก่อนตัดสินใจเดินทางไปใช้บริการ ณ สถานที่จริง ซึ่งนอกจากจะมีการนำเสนอธุรกิจในงานฯ ดังกล่าวแล้ว ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการยังสามารถนำสื่อ VR ไปต่อยอดในการทำการตลาดออนไลน์ของตนเองได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย แบ่งได้ออกเป็น 5 รูปแบบ คือ 1.บ้านพักคนชรา (residential Home2.สถานบริการช่วยเหลือในการดำรงชีวิต (Assisted Living3.สถานบริบาล (Nursing Home4.สถานดูแลระยะยาวในโรงพยาบาล (Long-term Care Hospital) และ 5.สถานดูแลระยะสุดท้าย (Hospice Care)

ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 800 ราย แบ่งเป็น นิติบุคคล จำนวน 273 ราย คิดเป็นร้อยละ 34.12 ทุนจดทะเบียนรวม 1,534.30 ล้านบาท และบุคคลธรรมดา จำนวน 527 ราย คิดเป็นร้อยละ 65.88