‘คมนาคม’ อัปเดตส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับภูมิลำเนาพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนล่าง เผยยอดอำนวยความสะดวกแล้ว 2,824 ราย
“คมนาคม” สรุปผลอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนาพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานตอนล่าง ตั้งแต่ 21 ก.ค.-5 ส.ค. 64 เผยยอดส่งผู้ป่วยแล้ว 2,824 ราย ด้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งบูรณาการหลายหน่วยงาน “คมนาคม-สธ.” เตรียมพร้อมอำนวยความสะดวกประชาชนเต็มที่
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการเตรียมการส่งผู้ป่วย โควิด-19 กลับภูมิลำเนา ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย บุรีรัมย์ ยโสธร อำนาจเจริญ สุรินทร์ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และนครราชสีมา ครั้งที่ 3 วันนี้ (6 ส.ค. 2564) ผ่านแอปพลิเคชั่น ZOOM ว่า การประชุมครั้งนี้ มีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ก.ค.2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่าน เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานการดำเนินงานจัดส่งผู้ป่วยกลับไปเข้ารับการรักษาในจังหวัดภูมิลำเนา
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานผลการดำเนินงานการอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่ 7 จังหวัด ตั้งแต่ 21 ก.ค.-5 ส.ค. 2564 โดยมีการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา คือ การส่งผู้ป่วยโควิด-19 กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2564 โดยเริ่มจากสถานีรถไฟรังสิตไปยังปลายทางที่ จ.อุบลราชธานี โดยใช้ขบวนรถไฟ CNR ขบวนพิเศษขบวนใหม่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งเป็นรถนั่งและนอนปรับอากาศ ห้องน้ำระบบปิดมีระบบปรับอากาศเหมือนกับบนเครื่องบิน
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำรถบัสโดยสารของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ในการรับส่งผู้ป่วยจากกรมการขนส่งทหารบก (บางเขน) ไปยังจังหวัดอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 2 และ 4 ส.ค. 2564 โดยได้ปรับปรุงรถโดยสาร และกั้นห้องโดยสารระหว่างพนักงานขับรถ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และห้องโดยสาร การปรับระบบปรับอากาศบนรถ นำพลาสติกมาหุ้มบริเวณเบาะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง รวมทั้งกรมการขนส่งทางบกดำเนินการรับผู้ป่วยจากจังหวัดนนทบุรี ไปส่งที่ศูนย์ขนส่งทหารบก บางเขน เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2564 และได้มีการสนธิกำลังกับหน่วยงานในระดับจังหวัดเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยให้สามารถกลับไปยังภูมิลำเนาได้อย่างสะดวก และปลอดภัย
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ภาพรวมของการรับ-ส่งผู้ป่วยกลับไปยังพื้นที่ภูมิลำเนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัด มียอดสะสม ณ วันที่ 5 ส.ค. 2564 รวมทั้งสิ้น 2,824 ราย โดยมีผลการดำเนินการรายจังหวัด ดังนี้
- นครราชสีมา ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 404 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
- บุรีรัมย์ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 458 คน โดยรับจาก 1330 และจากโครงการ “อุ้มลูกหลานกลับบ้าน” (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
- สุรินทร์ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 395 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
- ศรีสะเกษ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 211 ราย (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
- อุบลราชธานี ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 778 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
- ยโสธร ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 550 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
- อำนาจเจริญ ผู้ป่วยสะสมที่รับกลับมายังจังหวัด รวม 28 คน (ไม่รวมผู้เดินทางด้วยรถส่วนตัว)
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางการบูรณาการระหว่างหน่วยงานคมนาคม คือ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และหน่วยงานสาธารณสุข คือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อรับผู้ป่วยออกจากต้นทาง (บ้านผู้ป่วย) ไปยังศูนย์การขนส่งผู้ป่วย (สถานีรถไฟรังสิต/จุดจอดรถบัสโดยสาร บขส. หรือศูนย์การขนส่งทหารบก บางเขน) เพื่อเตรียมจำนวนรถและบริหารจัดการให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ที่จะเดินทางโดยรถไฟหรือรถบัสโดยสารแต่ละเที่ยว ในรูปแบบของ Feeder ก่อนที่ส่งผู้ป่วยขึ้นรถบัสโดยสารหรือรถไฟไปยังจังหวัดปลายทางต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในการประชุมครั้งนี้ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานดำเนินการ โดยให้กำหนดการเดินทางโดยยานพาหนะที่เหมาะสมกับปริมาณผู้ป่วยที่จะเดินทาง โดยให้ บขส. จัดเตรียมรถบัสโดยสาร และ ขบ. ดำเนินการช่วยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ในการจัดหารถสองแถว หรือรถสามล้อที่มีการปรับแต่งซีลกั้นตามมาตรฐานสาธารณสุข โดยให้ดำเนินการวางแผนร่วมกันระหว่างจังหวัด และ สพฉ. สำหรับงบประมาณในการลำเลียงผู้ป่วยข้างต้น ให้ดำเนินการตามแนวทาง หลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของ สพฉ. รวมทั้งให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาการหาแหล่งงบประมาณหรือกองทุนมาใช้ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย
ส่วนการรวบรวมตัวเลขผู้ป่วยเดินทางสะสม ขอให้จังหวัดจัดส่งข้อมูลให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อรวบรวมให้เป็นฐานข้อมูลของผู้ป่วยในภาพรวมทั้งหมดในแต่ละจังหวัด อีกทั้งให้ สพฉ. และกระทรวงคมนาคม บูรณาการในการกำหนดจุดรับ-ส่ง ผู้ป่วยให้มีความชัดเจน และหลีกเลี่ยงการรับส่งในที่ที่มีประชาชนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง รวมถึงให้ทุกจังหวัดสรุปจำนวนเตียงว่างของโรงพยาบาล/โรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอยของ แต่ละจังหวัดเข้ามาใน Group Line เพื่อให้ สพฉ. ใช้ประกอบการวางแผนการจัดส่งผู้ป่วยกลับภุมิลำเนา และการดำเนินการจัดส่งผู้ป่วยกลับไปยังภูมิลำเนา ขอให้ใช้แนวทางการอำนวยความสะดวกการเดินทางของผู้ป่วยที่ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 7 จังหวัดที่ผ่านมา เพื่อนำไปใช้กับทุกจังหวัดทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะเร่งเดินหน้าพาผู้ป่วยโควิด-19 กลับบ้านเกิด 7 จังหวัดอีสานใต้ ตามภารกิจที่ ครม. มอบหมาย โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่และใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ว่าจะสามารถเดินทางกลับไปยังจังหวัดภูมิลำเนา 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อเข้ารับการรักษาทางการแพทย์อย่างทันท่วงที และนำความปลอดภัยมาสู่ประชาชน ที่ได้รับเชื้อจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19