‘คมนาคม’ เดินหน้าโปรเจ็กต์ ‘แลนด์บริดจ์’ เปิดทำเลที่ตั้ง 2 ท่าเรือแห่งใหม่ของไทย เชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน ดันสู่ฮับขนส่งทางน้ำในอาเซียน
“คมนาคม” เดินหน้าพัฒนาโปรเจ็กต์ “แลนด์บริดจ์” พร้อมเปิดทำเลที่ตั้ง 2 ท่าเรือแห่งใหม่ของไทย เชื่อมฝั่งอ่าวไทย-อันดามัน “ชุมพร-ระนอง” ชี้ระยะทางสั้นและตรงที่สุด หวังดึงดูดเรือบรรทุกน้ํามันขนาดใหญ่ หันมาใช้เส้นทางในอนาคต ก้าวสู่ฮับขนส่งทางน้ำในอาเซียน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการศึกษาโครงการดังกล่าว
โดยในส่วนของการคัดเลือกตําแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมของฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามันนั้น มีการพิจารณาจากเกณฑ์การคัดเลือกที่ตั้งท่าเรือ ในด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการลงทุน และด้านสังคม ซึ่งนอกจากจะเป็นตําแหน่งที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือแล้ว แนวเส้นทางเชื่อมต่อทั้ง 2 ท่าเรือ ยังมีระยะทางที่สั้นและตรงที่สุดในการขนส่งจากฝั่งอ่าวไทยสู่ฝั่งอันดามัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า จากทำเลที่ตั้งดังกล่าว ที่มีระยะทางที่สั้นและตรงที่สุดแล้วนั้น น่าจะเป็นผลดีในการดึงดูดให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้เส้นทางขนส่งแลนด์บริดจ์ในอนาคต โดยหลังจากนี้ จะทําการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมรวมถึงแนวทางในการพัฒนาพื้นที่หลังท่าเรือให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ สอดคล้องกับตําแหน่งท่าเรือและแนวเส้นทางครอบคลุมครบทุกมิติ และนําตําแหน่งที่ตั้งท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ดําเนินการจัดทําการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อพิจารณาผลตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้ จากการศึกษารูปแบบและปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ พบว่า การขนส่งสินค้าทางทะเล มีมากถึง 80% ของการขนส่งสินค้าของโลก หรือคิดเป็นปริมาณสินค้าเท่ากับ 11.1 พันล้านตัน และมีการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกามากถึง 1 ใน 4 ของการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก โดยหนึ่งในประเภทสินค้าที่มีการขนส่งทางช่องแคบมะละกามากที่สุด คือ การขนส่งสินค้าประเภทน้ํามัน (Tanker) ซึ่งการพัฒนาเพื่อดึงดูดให้เรือขนส่งน้ํามันขนาดใหญ่และเรือขนส่งสินค้าให้หันมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ในอนาคต จะเป็นโจทย์สําคัญของการศึกษาโครงการ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ําของภูมิภาคอาเซียน
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์ และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องด้านต่างๆ ประกอบด้วย ด้านการพัฒนาท่าเรือและด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศ ด้านการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ รถไฟเชื่อมท่าเรือ และการขนส่งทางท่อ ด้านการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนและกฎหมาย และด้านการสื่อสารสาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อให้การดําเนินโครงการแลนด์บริดจ์ของกระทรวงคมนาคม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเกิดผลสําเร็จอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่จะส่งเสริมให้สายการเดินเรือต่างๆ มาใช้บริการโครงการแลนด์บริดจ์ได้ รวมถึงให้พิจารณาการเพิ่มของปริมาณการนำเข้า-ส่งออกทางน้ำ ภายหลังจากมีการพัฒนาโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC)
รวมถึงเปรียบเทียบแนวทางเลือกการเชื่อมต่อระหว่างฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ระหว่างการทำอุโมงค์แยกระหว่างรถไฟและรถยนต์ และการทำอุโมงค์รวม ทั้งรถไฟและรถยนต์ โดยเปรียบเทียบข้อมูลต่างๆ ให้รอบด้าน นอกจากนี้ ในการศึกษาการพัฒนาพื้นที่หลังทำให้คำนึงถึงชุมชน วิถีชีวิต และปัจจัยต่างๆ อย่างรอบด้านด้วย
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากการคัดเลือกมีพื้นที่ตําแหน่งท่าเรือที่เหมาะสมของฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน พบว่า มีศักยภาพฝั่งละ 3 แห่งที่มีความเหมาะสม ที่จะพัฒนาเป็นท่าเรือแห่งใหม่ของประเทศไทย
รองรับเรือขนส่งสินค้าจากฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร ประกอบด้วย
- แหลมประจําเหียง
- แหลมริ่ว
- แหลมคอเขา
รองรับเรือขนส่งสินค้าจากฝั่งอันดามัน จ.ระนอง ประกอบด้วย
- เกาะตาวัวดํา
- เกาะสน
- แหลมอ่าวอ่าง