‘วีรศักดิ์’ ตรวจเยี่ยม ‘สถาบันการบินพลเรือน’ พร้อมมอบนโยบาย 8 ข้อ เร่งปั้นบุคลากรรองรับอุตฯ การบิน ดันไทยสู่ฮับในภูมิภาค

วีรศักดิ์บุกตรวจเยี่ยมสถาบันการบินพลเรือนประเดิมหน่วยงานแรกหลังรับตำแหน่ง รมช.คมนาคม มอบนโยบาย 8 ข้อ ลุยปั้นบุคลากร รองรับอุตสาหกรรมการบินในอนาคต พร้อมดันไทยสู่ฮับการบินในภูมิภาค การันตีด้วยมาตรฐานสากล สร้างประโยชน์ 4 ด้านอย่างครอบคลุม

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายในการดำเนินงานแก่สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วันนี้ (16 มิ.. 2564) ว่า สบพ. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่ผลิตบุคลากรด้านการบินชั้นนำของประเทศ และมีหลักสูตรที่หลากหลายเป็นที่ยอมรับ เช่น การจัดการสนามบิน การจัดการสายการบิน การจัดการจราจรทางอากาศ การฝึกนักบิน โดย สบพ. จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้ นั่นคือโอกาสในการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายในการดำเนินงานแก่ สบพ. 8 ด้าน ประกอบด้วย 1.กำหนดให้ สบพ. เป็นสถาบันหลักในการกำหนดมาตรฐานการผลิตบุคลากรด้านการบินที่มีคุณภาพและมาตรฐาน 2.ในฐานะที่ สบพ. ได้ยกระดับเป็นสมาชิกเป็น Regional Training Center of Excellence (RTCE) โครงการ ICAO TRAINAIR PLUS โดยได้รับการรับรองสาขาความเชี่ยวชาญ ใน 2 ด้าน ได้แก่ Air Navigation Services และ Flight Safety and Safety Management นั้น ให้ต่อยอดพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่ออุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย

3.ยึดหลักการสำคัญ คือ คุณภาพของหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงบุคลากรด้านการบินในด้านทักษะภาษาอังกฤษ ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทางด้านอุตสาหกรรมการบิน 4.พิจารณาเร่งรัดการพัฒนาศูนย์ฝึกการบิน.หัวหิน .ประจวบคีรีขันธ์ ในด้านอาคารสถานที่หลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนบุคลากร ให้พร้อมรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินในอนาคตอย่างทันท่วงที 5.ให้สถาบันการบินพลเรือน มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถภายใต้การแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน โดยคำนึงถึงการพัฒนารูปแบบนวัตกรรม และการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้ในการสนับสนุนองค์กรในทุกด้าน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

6.บริหารจัดการด้านสินทรัพย์ขององค์กร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต 7.เน้นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของการผลิตบุคลากรด้านการบิน และผลงานวิจัยวิชาการด้านการบินให้โดดเด่น เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และ 8.พิจารณาศึกษาทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา ให้คุ้มค่ากับเงินลงทุน เหมาะสมกับเวลา โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเกิดประโยชน์ต่อองค์กรต่อไป

ผมขอชื่นชม สบพ. ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน มีการพัฒนาในทุกด้านเสมอมา เพื่อที่จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพมารับใช้สังคม และประเทศชาติได้เป็นอย่างดี การได้รับมาตรฐานการฝึกอบรมของ สบพ. ถือเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า สบพ. มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ และส่งเสริมเพื่อให้อุตสาหกรรมการบินของไทย อยู่ในระดับแถวหน้าของโลกได้อย่างแน่นอน ถือได้ว่าเป็น 1 ใน 21 สมาชิกระดับ RTCE ทั่วโลก หรือเป็น 1 ใน 6 สถาบันฝึกอบรมด้านการบินจาก 5 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่เป็นสมาชิกในระดับ RTCE ร่วมกับ ประเทศจีน อินเดีย เกาหลีใต้และสิงคโปร์นายวีรศักดิ์ กล่าว

นายวีรศักดิ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับการได้รับการรับรองระดับ RTCE นั้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ 1.ประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นจากอุตสาหกรรมการบินของโลกว่ารัฐบาลให้การสนับสนุนหน่วยงานอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย รงมถึงมีรายได้จากการที่ผู้เข้าอบรมใช้จ่ายส่วนตัวและท่องเที่ยวในประเทศต่อหลังจากการฝึกอบรม 2.ประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบินของโลก และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายลิขสิทธิ์และการจัดฝึกอบรมหลักสูตรระดับ ICAO ลิขสิทธิ์ของสถาบันการบินพลเรือน

3.ประโยชน์ต่อองค์กรด้านการบินอื่นๆ กล่าวคือ บุคลากรขององค์กรได้รับความรู้, ทักษะจากหลักสูตรและระบบการอบรมที่มีคุณภาพ ส่วนบุคลากรได้รับการรับรองที่เป็นมาตรฐานสากล ขณะที่ ต้นทุนการฝึกอบรมบุคลากรต่ำ ประหยัดค่าใช้จ่ายและใช้เวลาน้อยกว่าการอบรมจากหลักสูตรของต่างประเทศหรือเดินทางไปอบรมที่ต่างประเทศ และ4.ประโยชน์ต่อนักศึกษา/ผู้เข้าฝึกอบรม โดยได้รับความรู้, ทักษะจากหลักสูตรและระบบการอบรมที่มีคุณภาพ รวมถึงได้รับการรับรองที่เป็นมาตรฐานสากล ขณะที่ ผู้เข้าอบรมและหน่วยงานด้านการบินสามารถเข้าถึงหลักสูตรฝึกอบรมด้วยต้นทุนต่ำ และใช้เวลาน้อยกว่าการอบรมจากหลักสูตรของต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ สบพ. ควรเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้มากกว่าปัจจุบันที่ผลิตได้อยู่ปีละ 546 คน เพื่อรองรับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน เน้นการสร้างเครือข่ายทางวิชาการโดยอาศัยความร่วมมือแลกเปลี่ยนทักษะความรู้ งานวิจัย ตลอดจนนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี จากหน่วยงานในอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือด้านการบินให้กับประเทศไทย อีกทั้งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวม ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาคในอนาคต