‘BTS-กรุงเทพธนาคม’ ผุดข้อเสนอ ‘ลดเที่ยววิ่ง-เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย’ หลังยังไร้ข้อยุติหนี้ 3 หมื่นล้าน-ต่อสัมปทาน

กรุงเทพธนาคมเรียกบีทีเอสถกหาแนวทางแก้ไขภาระหนี้กว่า 3 หมื่นล้านรถไฟฟ้าสายสีเขียวผุดข้อเสนอลดเที่ยววิ่งเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายหวังลดค่าใช้จ่าย คาดสรุปในอีก 2 สัปดาห์ พร้อมชงรัฐบาล จิ้มเลือก 3 ทางออก หลังสภา กทม.ไฟเขียวแนบเรื่องเสนอพิจารณา

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมหารือกับผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) นำโดยนายปิยะพูดคล่อง ประธานกรรมการบริษัท นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการ และคณะกรรมการบริหาร เมื่อวานนี้(24 .. 2564) ว่า ได้มีการหารือถึงแนวทางแก้ไขภาระหนี้ การเดินรถ และซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะกรณีภาระหนี้ วงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ในการหารือนั้น ทั้ง BTS และเคที ได้นัดหารือเรื่องของปัญหาหนี้สิน ที่ BTS ได้ดำเนินการเดินรถไฟฟ้าในส่วนต่อขยาย (สำโรงเคหะฯ) รวมระยะเวลาทั้งหมด 4 ปี ซึ่งบริษัทฯ ยังไม่ได้ค่าจ้างเดินรถ ได้ทวงถามจำนวนหนี้กว่า 3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการหารือคณะกรรมการบริหารของเคที ซึ่งระบุว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามติดตามทวงถามมาโดยตลอด

โดยในเบื้องต้นทางสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) ฝ่ายบริหาร กทม. พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกทม. ได้ส่งหนังสือไปทางรัฐบาลแล้วทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือตามแนวทาง 3 ข้อ ที่สภา กทม.เห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย 1.เห็นควรให้นำเรื่องการกำหนดสัดส่วนการลงทุนระหว่างรัฐบาลกับ กทม. ขึ้นมาพิจารณาเพื่อหาข้อยุติ โดยจะมีผลทำให้แบ่งเบาภาระหนี้ของ กทม.ได้ เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก(คจร.) ที่เคยให้หลักการไว้

2.กรณีที่รัฐเห็นว่าการแบ่งเบาภาระหนี้ของ กทม. สมควรใช้วิธีอื่นโดยให้เอกชนรับภาระ และให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปของสัมปทานเดินรถ ก็สมควรดำเนินการตามแนวทางคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2562 ลงวันที่ 11 เม.. 2562 โดยเร็วต่อไป และ 3.ในกรณีที่ไม่อาจดำเนินการข้างต้นได้ และ กทม.ไม่อาจรับภาระหนี้ที่เกิดขึ้น โดยที่รัฐไมได้ให้การสนับสนุนลงทุนร่วมกันได้ ตามหลักการที่เคยกำหนดไว้ เห็นควรส่งโครงการดังกล่าวกลับคืนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการต่อไป

“BTS ไม่ได้เป็นห่วงเรื่องสัมปทาน แต่ห่วงเรื่องของหนี้สินที่เกิดขึ้นซึ่งมียอดสูงมาก เนื่องจากบริษัท BTS กรุ๊ปฯ เป็นบริษัทมหาชน จึงต้องมีคำตอบให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งขณะนี้มีประชาชนถือหุ้นอยู่กว่า 1 แสนราย ตัว BTS กรุ๊ปฯ, เคที และกทม. แน่นอนว่า อยากจะให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรค ไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน ขณะนี้มีการหารือร่วมกันว่าทำอย่างไรระหว่างที่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยต้องเดินรถต่อไปให้ได้และมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายนายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวต่ออีกว่า แม้ไม่ได้รับค่าจ้าง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นทุกวัน วันนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพียงแต่หารือกันว่ามีแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายอย่างไร ประกอบด้วยขณะนี้อยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และผู้โดยสารของรถไฟฟ้าลดจำนวนไปค่อนข้างมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะลดเที่ยววิ่งลง เพื่อให้ค่าใช้จ่ายน้อยลง ขณะเดียวกัน อีกแนวทางหนึ่ง คือ กทม.หรือเคที จะเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ซึ่งนับตั้งแต่สถานีสำโรง สถานีแรกที่เปิดให้บริการจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 4 ปีแล้วที่ทางบริษัทฯ ยังไม่ได้เก็บค่าโดยสารเลย

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นนั้น ยังเป็นเพียงข้อเสนอของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องรอให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในการหารือร่วมครั้งต่อไปในอีก2 สัปดาห์ต่อจากนี้ ทาง BTS และเคที จะเตรียมรายละเอียด เพื่อนำกลับไปหารือทั้งเรื่องข้อดี ข้อเสีย  อย่างไรก็ตามถึงแม้จะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่จะพยายามอย่างดีที่สุด ทำทุกวิถีทางไม่ให้กระทบต่อผู้โดยสารมากที่สุด และจะไม่หยุดเดินรถอย่างแน่นอน ซึ่งที่ได้ดำเนินการทั้งหมดนี้นั้น ไม่ได้ต้องการสัมปทาน แต่อยากให้ทุกคนทราบว่า ที่ให้บริการเดินรถรับจ้าง แต่ไม่ได้รับความยุติธรรม ส่วนเรื่องสัมปทานเป็นเรื่องการเจรจาของทางรัฐบาล และ กทม.

การลดเที่ยววิ่ง เพราะเห็นว่าเคทีไม่สามารถจ่ายค่าจ้างให้ BTS ได้ แต่ถ้าลดเที่ยววิ่งลงได้จะช่วยให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้ เช่นเดียวกับการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยาย ซึ่งเคทีจะต้องเสนอ กทม.และเป็นอำนาจของ กทม.ที่จะอนุมัติให้จัดเก็บได้ทันที อีกทั้งยังเคยมีการออกข้อบัญญัติให้จัดเก็บค่าโดยสารสูงสุด 104 บาทมาแล้ว จึงอาจต้องทบทวนการจัดเก็บในอัตรานี้อีกครั้ง โดย 2 แนวทางนี้ต้องรอสรุปการหารือในครั้งหน้าอีก 2 สัปดาห์นี้ก่อน