ttb analytics แนะรัฐ “ฉีดวัคซีนเชิงรุก” มุ่งเป้า High mobility ควบคู่กลุ่มเสี่ยงสูง เร่งฟื้นศก.ลดความสูญเสีย 5.7 หมื่นลบ.

ttb analytics แนะรัฐ เสริมแนวทางการฉีดวัคซีนเชิงรุกกระจายสู่กลุ่มเป้าหมาย High mobility ควบคู่กลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ และเร่งสปีดการฉีดเพิ่ม คาดช่วยลดอัตราการแพร่เชื้อได้มากขึ้น และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว ลดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจได้ 5.7 หมื่นล้านบาท

ชงแนวทางการกระจายวัคซีนใหม่ “ฉีดวัคซีนเชิงรุก” เพื่อตอบโจทย์ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมีความเสี่ยงจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แม้เริ่มมีการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ในเบื้องต้นมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้ว 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 1.8 ของประชากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมีความเสี่ยงสูงที่มีโอกาสติดเชื้อ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้อยู่ในพื้นที่แพร่ระบาดสูง เช่น คลัสเตอร์ตามชุมชน โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) มองโจทย์ท้าทายในขณะนี้คือ ทำอย่างไรให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงได้เร็ว ขณะเดียวกันสามารถทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นกลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ

หนึ่งในแนวทางที่น่าสนใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ให้ดียิ่งขึ้นคือ แนวทางการกระจายวัคซีนเชิงรุก (Targeted Approach) แก่ประชากรที่เหมาะสม โดยอาศัยปัจจัยการเคลื่อนไหว (Mobility) ทั้งนี้ เนื่องจากแต่ละกลุ่มประชากรในประเทศ ล้วนต่างมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับอาชีพและช่วงอายุ จึงทำให้แต่ละกลุ่มประชากรมีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อและมีความสัมพันธ์ต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป

การประเมินรูปแบบการกระจายวัคซีนเชิงรุก โดยอาศัยเกณฑ์การเคลื่อนไหว (Mobility) สามารถแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19  ตามลักษณะพฤติกรรมการพบปะผู้คนและการเดินทาง ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่ม High Mobility จำนวน 20.2 ล้านคน ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขาย พนักงานขนส่ง พนักงานบริการ และพนักงานโรงงาน จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก และเป็นกลุ่มที่มีส่วนในกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งหลัก ๆ เป็นภาคการค้าและบริการคิดเป็นสัดส่วนกว่า 62% ของจีดีพี

2) กลุ่ม Medium Mobility จำนวน 6.9 ล้านคน เป็นกลุ่มของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทให้พนักงานส่วนหนึ่งทำงานที่บ้าน (Work from home) สามารถลดความหนาแน่นในที่ทำงานได้ จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้น้อยกว่ากลุ่มแรก

3) กลุ่ม Low Mobility จำนวน 39.3 ล้านคน ได้แก่ ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี รวมถึงแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ และเกษตรกร จัดเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อค่อนข้างต่ำ

ซึ่งการแบ่งกลุ่มผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อนำมาสู่แผนการกระจายวัคซีนใน 3 แนวทาง คือ 1.เน้นฉีดกลุ่ม Low Mobility เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับแผนการกระจายวัคซีนของภาครัฐในบางส่วน ที่มีการเน้นฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ  2. เน้นฉีดกระจายทุกกลุ่ม (ปูพรม) ซึ่งเป็นแนวทางล่าสุดที่ภาครัฐมีแนวโน้มจะปรับใช้ 3. เน้นฉีดกลุ่ม High Mobility ควบคู่ไปกับกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ โดยการกระจายการฉีดวัคซีนแบบเชิงรุกให้กับผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เช่น สถานที่ทำงาน โรงงาน ห้างสรรพสินค้า ตลาด ร้านค้า และงานบริการต่าง ๆ

หนุนฉีดวัคซีนเชิงรุก “กลุ่ม High Mobility ควบคู่ไปกับกลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ” ส่งผลให้ปลดล็อคเศรษฐกิจเร็วขึ้น

ภายใต้กรอบแผนการกระจายฉีดวัคซีน 300,000 โดสต่อวัน ผลของการวิเคราะห์ที่ประยุกต์แบบจำลองทางระบาดวิทยา (SIR) แสดงให้เห็นว่าการกระจายวัคซีน สามารถทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องได้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแนวทางการกระจายวัคซีนในแต่ละกลุ่ม พบว่ามีความแตกต่างของจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยพบว่า แนวทางที่เน้นการฉีดกลุ่ม Low Mobility ยังคงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 3,600 คนต่อวัน  หลังจากนั้นในไตรมาสแรกปี 2565 ถึงจะเริ่มเห็นตัวเลขลดลงอย่างชัดเจน อีกทั้งจำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสมในกลุ่ม Low Mobility ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ที่ 26.3 ล้านคนจากจำนวนประชากรในกลุ่มนี้ที่มีถึง 39 ล้านคน และที่น่าสนใจคือการฉีดนำร่องด้วยกลุ่ม Low Mobility ส่งผลให้ประชากรในกลุ่ม High Mobility ที่ได้รับวัคซีนจะมีเพียง 13.9 ล้านคนเท่านั้น เทียบกับประชากรที่มีอยู่ถึง 20.3 ล้านคนในกลุ่มนี้ ในขณะที่แนวทางเน้นฉีดแบบปูพรม พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อ ณ ธันวาคม 2564 จะอยู่ที่ 1,600 คนต่อวัน น้อยกว่าการฉีดเน้นกลุ่ม Low Mobility ถึงกว่าร้อยละ 50

เมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม พบว่าหากใช้แนวทางเน้นฉีดวัคซีนเชิงรุก กล่าวคือ การฉีดกลุ่ม High Mobility ควบคู่กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (รวมผู้มีโรคประจำตัว) ซึ่งเป็นแนวทางการฉีดวัคซีนของภาครัฐในขณะนี้ จะทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อทยอยลดลงได้มากเช่นกัน ซึ่งคาดว่ายอดผู้ติดเชื้อจะอยู่ที่ 600 คนต่อวัน ในเดือนธันวาคม 2564  ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนเชิงรุกดังกล่าวในภาพรวมจะทำให้ประชากรในแต่ละกลุ่มได้รับวัคซีนมากกว่า โดยกลุ่ม High Mobility ที่มีจำนวนประชากร 20.3 ล้านคน และกลุ่ม Medium Mobility จำนวน 6.6 ล้านคนจะได้รับวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมด ภายในสิ้นปี 2564

นอกจากนี้ แนวทางเลือกฉีดวัคซีนในแต่ละกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน กล่าวคือ  หากใช้แนวทางการฉีดให้กลุ่ม Low Mobility ก่อน จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวในเดือนธันวาคม 2564 และจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการราว 8.96 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงกว่ากลุ่มอื่น อย่างไรก็ดี หากใช้แนวทางฉีดเชิงรุกตามกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Approach) คาดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวเร็วขึ้นประมาณเดือนตุลาคม 2564 และความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการจะลดลงอยู่ที่ 6.46 หมื่นล้านบาท  หรืออาจกล่าวได้ว่าการใช้แนวทางการฉีดเชิงรุกจะทำให้ความสูญเสียน้อยลงกว่าฉีดกลุ่ม Low Mobility ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท

เร่งสปีดฉีดวัคซีนวันละ 5 แสนโดส ช่วยลดยอดผู้ติดเชื้อได้มาก และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นหากเร่งปริมาณการฉีดวัคซีนโดยเพิ่มจาก 3 แสนโดสต่อวัน เป็น 5 แสนโดสต่อวัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการฉีดวัคซีนของภาครัฐล่าสุดกำหนดเป้าหมายอยู่ที่ 15 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้แนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อลดลงในอัตราเร่ง และเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ โดยยอดผู้ติดเชื้อ ณ เดือนธันวาคม มีจำนวนต่ำกว่า 100 คนต่อวัน ซึ่งส่งผลให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจในภาคการค้าและบริการอยู่ที่ 5.63 หมื่นล้านบาท สำหรับกรณีเลือกฉีดกลุ่ม Low mobility ก่อน ซึ่งจะเริ่มทยอยฟื้นตัวในช่วงเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป แต่หากเลือกใช้การฉีดเชิงรุกแก่กลุ่ม High Mobility ควบคู่กับฉีดกลุ่มเสี่ยง ความสูญเสียจะน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 3.22 หมื่นล้านบาท และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

หากเทียบกับกรณีการเร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 5 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่มเชิงรุก กับการฉีดตามแผน 3 แสนโดสต่อวัน ในกลุ่ม Low Mobility พบว่า จะช่วยลดความสูญเสียได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 ดังนั้น แนวทางการฉีดเชิงรุก (Targeted Approach) พร้อมทั้งเร่งสปีดการฉีด 5 แสนโดสต่อวัน จะส่งผลทำให้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจลดลง และช่วยเร่งระยะเวลาการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ การวิเคราะห์ข้างต้นอยู่บนสมมุติฐานว่า มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 อันเป็นผลมาจากการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ภายหลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศปรับตัวลดลง ยิ่งไปกว่านั้น การฉีดวัคซีนจะดำเนินเป็นไปตามแผนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนให้ครอบคลุมทั้งบุคลากรทางแพทย์ที่อยู่ในกลุ่ม High Mobility และผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่ม Low Mobility ตลอดจนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวซึ่งกระจายอยู่ทั้ง 3 กลุ่มแล้ว ในช่วงเดือนมิถุนายน และในเดือนกรกฎาคม การฉีดวัคซีนจะเริ่มกระจายสู่ประชากรทั่วประเทศ โดยจะเริ่มเห็นผลต่อการควบคุมการระบาดได้ในเดือนสิงหาคม

นอกจากนี้ การเร่งฉีดวัคซีนจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเร็วขึ้น โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน กับ Mobility โดยประเทศที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนต่อประชากรยิ่งมาก Mobility จะยิ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนฉีดวัคซีน เช่น อิสราเอล สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมา

โดยสรุป การควบคุมการแพร่ระบาดไม่สามารถกระทำได้จากภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องเป็นการร่วมมือกันในทุกภาคส่วนในด้านต่าง ๆ ไปพร้อม ๆ กัน  ตั้งแต่การดูแลป้องกันตัวเองลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดเชิงรุก  การแก้ไขดูแลปัญหาผู้ติดเชื้อตามโรงพยาบาลและสถานที่จัดไว้  รวมไปถึงการกระจายและจัดการวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและเป็นไปในเชิงรุกให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ย่อมช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ  และยังช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจให้น้อยลง ทำให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ภาคธุรกิจฟื้นได้เร็วขึ้น และรัฐสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นฟูประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

การวิเคราะห์ผลการกระจายวัคซีนตามกลุ่ม Mobility ผ่านแบบจำลองโรคระบาด (SIR)

ทั้งนี้ ttb analytics ได้นำแบบจำลอง  SIR ซึ่งเป็นแบบจำลองที่ศึกษาการแพร่กระจายของโรคระบาด มาประยุกต์โดยเพิ่มเติมความสัมพันธ์ของ Mobility ที่มีต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อศึกษาผลกระทบของแนวทางการกระจายวัคซีนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีต่อจำนวนผู้ติดเชื้อและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยในตัวแปรที่สำคัญในแบบจำลองประกอบไปด้วย ปริมาณผู้เสี่ยงติดเชื้อ (S: Susceptible) ปริมาณผู้ติดเชื้อ (I: Infectious) และ ปริมาณผู้ฟื้นฟูจากการติดเชื้อ (R: Recovered) ซึ่งปัจจัยที่สามารถควบคุมการระบาดได้ดี คือการลดจำนวนผู้เสี่ยงติดเชื้อ โดยการกระจายฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

การศึกษานี้ได้อาศัยข้อมูลการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยและ ข้อมูล Google Mobility index ที่แสดงถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2563 ถึง เมษายน 2564 ประกอบกับแผนการฉีดวัคซีนของภาครัฐ เพื่อวิเคราะห์ผลของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและการกระจายฉีดวัคซีน ที่จะมีผลต่อการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในอนาคต เนื่องจากทั้งสองปัจจัย มีผลต่ออัตราการแพร่กระจาย (Reproduction rate : R0) ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ สะท้อนได้จากความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย และค่าเฉลี่ย Google Mobility index ในหมวดหมู่ร้านค้า สถานีขนส่ง และสถานที่ทำงาน ที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน