‘คมนาคม’ กางงบปี 65 วงเงิน 2.11 แสนล้าน ‘ทางหลวง’ ยืนหนึ่งได้รับจัดสรรมากสุด ด้าน ‘ทอท.’ เศร้า ถูกหั่นงบเกลี้ยง ‘ศักดิ์สยาม’ นัดถก 17 พ.ค.นี้

ส่อง! งบปี 65 “คมนาคม” วงเงิน 2.11 แสนล้าน ลดลงปีก่อน 7.14% “ศักดิ์สยาม” นัดประชุม 17 พ.ค.นี้ ถกเตรียมความพร้อมชี้แจงงบฯ พุ่งเป้าลงทุน “ถนน-ราง-อากาศ-น้ำ” ตามลำดับ เผย “ทางหลวง” หน่วยงานราชการนัมเบอร์วัน ได้รับจัดสรรงบมากสุด 1.15 แสนล้าน ฟาก ทอท.สุดเศร้า โดนหั่นงบ 100% หลังเสนอคำขอ 1.51 พันล้าน ตามติด “การทางพิเศษฯ” เหลืองบ 11 ล้าน ระบุใช้เงินลงทุนจากแหล่งที่มาอื่น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม จัดเตรียมข้อมูล และจะมีการประชุมความพร้อมในวันที่ 17 พ.ค. 2564 เพื่อเตรียมชี้แจงในการประชุมรัฐสภา เรื่องงบประมาณประจำปี 2565 ที่กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรวงเงิน 2.11 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการ 8 หน่วยงาน วงเงิน 1.75 แสนล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน วงเงิน 3.57 หมื่นล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปี 2564 วงเงิน 1.62 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 7.14%

ทั้งนี้ กรมทางหลวง (ทล.) ถือเป็นหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 มากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 1.15 แสนล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 3.13 แสนล้านบาท ลดลง 63.14% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 8.36% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 1.25 แสนล้านบาท รองลงมา คือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปี 2565 ได้รับการจัดสรร วงเงิน 4.62 หมื่นล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 7.81 หมื่นล้านบาท ลดลง 40.85% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 5.22% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 4.87 หมื่นล้านบาท

ในส่วนหน่วยงานราชการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 น้อยที่สุด และถือเป็นหน่วยงานที่ถูกตัดงบประมาณที่เสนอคำขอไปมากที่สุด คือ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยได้รับการจัดสรรอยู่ที่วงเงิน 116 ล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 595 ล้านบาท ลดลง 80.45% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 3.29% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 120 ล้านบาท

*** ทอท.เศร้า! โดนหั่นงบ 100% ***

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ถือเป็นหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 มากที่สุด อยู่ที่วงเงิน 1.83 หมื่นล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 4.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 72.18% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 13.38% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 1.79 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ปี 2565 ได้รับการจัดสรร วงเงิน 1.30 หมื่นล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 3.41 หมื่นล้านบาท ลดลง 72.38% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 13.38% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 1.50 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถือเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยงานเดียว ที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ถูกตัด 100% ตามที่ได้เสนอคำขอไป วงเงิน 1.51 พันล้านบาท เนื่องจากไปใช้งบประมาณจากแหล่งอื่นๆ เช่น เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ, เงินกู้ภายในประเทศ เป็นต้น รองลงมา คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้รับการจัดสรรอยู่ที่วงเงิน 11 ล้านบาท จากวงเงินคำขอที่เสนอขอไป วงเงิน 1.47 พันล้านบาท ลดลง 99.24% และลดลงจากปี 2564 คิดเป็น 87.06% หรือได้รับการจัดสรร วงเงิน 87 ล้านบาท ทั้งนี้ เหตุที่ กทพ.ได้รับงบประมาณน้อยนั้น เนื่องจากโครงการลงทุนต่างๆ ได้ใช้งบประมาณลงทุนจากแหล่งที่มาอื่นๆ เช่น เงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ, เงินกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) เป็นต้น

*** ปี 65 เน้นลงทุนทางถนน พร้อมช่วยเคลียร์หนี้กู้ 3 หน่วยงาน***

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า เมื่อจำแนกตามโหมดการคมนาคม (บก-น้ำ-ราง-อากาศ) พบว่า ในปี 2565 ได้ทุ่มงบประมาณทางบกมากที่สุด วงเงิน 1.69 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 80% ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร รองลงมา คือ ทางราง วงเงิน 3.15 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 14.91%, ทางอากาศ วงเงิน 5.35 พันล้านบาท คิดเป็น 2.53%, ทางน้ำ วงเงิน 4.59 พันล้านบาท คิดเป็น 2.17% และงานนโยบาย วงเงิน 829 ล้านบาท คิดเป็น 0.39%

ขณะเดียวกัน เมื่อจำแนกหมวดรายจ่ายของงบประมาณปี 2565 แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุน วงเงิน 1.74 แสนล้านบาท หรือ 82.69% ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมด โดยเป็นงบผูกพันเดิม 6.47 หมื่นล้านบาท และงบประมาณใหม่ 1.10 แสนล้านบาท, ชำระหนี้เงินกู้ให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)-รฟท.-รฟม. วงเงิน 2.03 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 9.6% และรายจ่ายประจำ 1.63 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 7.71%

สำหรับหน่วยงานอื่นๆ ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2565 นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้นนั้น ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม วงเงิน 553 ล้านบาท, กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 4.59 พันล้านบาท, กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 3.46 พันล้านบาท, กรมท่าอากาศยาน (ทย.) วงเงิน 5.19 พันล้านบาท, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงิน 275 ล้านบาท, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 4.14 พันล้านบาท, สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) วงเงิน 159 ล้านบาท