ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศกำหนดเส้นทางใช้ความเร็วฯ คอนเฟิร์ม! 1 เม.ย.นี้ ขับไม่เกิน 120 กม./ชม. ถนนสายเอเชีย 45.9 กม.

ดีเดย์! 1 เม.ย.นี้ วิ่งใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ทล.32 ช่วงอยุธยา-อ่างทอง ระยะทาง 45.9 กม. หลังราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินลงนามกำหนดเส้นทางแล้ว ด้าน “ศักดิ์สยาม” ยัน “สะดวก-รวดเร็ว-ปลอดภัย” พร้อมลุยต่อเฟส 2 ระยะทาาง 240 กม. “ราชพพฤกษ์-ชัยพฤกษ์ 90 กม. & ทางหลวงอีก 150 กม.”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 มี.ค. 2564) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศประกาศผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน เรื่อง กำหนดเส้นทางให้ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 17 มี.ค. 2564 ลงนามโดยนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน มีใจความว่า อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564 ออกตามความในมาตรา 5 (1) แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดิน จึงออกประกาศกำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 บางปะอิน-พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กิโลเมตร (กม.) เป็นเส้นทางที่ใช้อัตราความเร็วยานพาหนะได้ ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ยืนยันว่า ในวันที่ 1 เม.ย. 2564 เตรียมนำร่องทดลอง (คิกออฟ) ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม.ต่อชั่วโมง (ชม.) ตามที่กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดิน หรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 กำหนดไว้ และผู้อำนวยการทางหลวงแผ่นดินได้ลงนามกำหนดเส้นทางทางหลวงหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) บางปะอิน-พยุหะคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม.50+000 ทั้งขาเข้าและขาออก รวมระยะทาง 45.9 กม. แล้ว ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวนั้น เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

ในส่วนของระยะต่อไป (เฟส 2) นั้น เบื้องต้นได้ประเมินถนนที่มีกายภาพเหมาะสม สามารถดำเนินการได้ ระยะทางประมาณ 240 กม. แบ่งเป็น ถนนของกรมทางหลวง (ทล.) ระยะทางประมาณ 150 กม. และถนนของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ระยะทางประมาณ 90 กม. ได้แก่ ถนนราชพฤกษ์ และถนนชัยพฤกษ์ โดยคาดว่า จะเปิดให้ใช้อัตราความเร็ว 120 กม./ชม.ได้ภายหลังจากคิกออฟไปแล้วประมาณ 2-3 เดือน และจะทยอยประกาศเพิ่มในอนาคตต่อไป ในเส้นทางตามที่แขวง ทล. แขวง ทช. ได้สรุปรายงานมาให้พิจารณา โดยทั่วประเทศมีระยะทางกว่า 12,000 กม. ที่มี 4 ช่องจราจร มีเกาะกลางถนน และไม่มีจุดกลับรถ หรือจุดตัดเสมอเส้นทาง

รายงานจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากการประชุมของกระทรวงคมนาคมก่อนหน้านี้ ได้เห็นชอบในหลักการเส้นทางที่มีศักยภาพสามารถนำมาประกาสเพิ่มเติมทั้งในส่วนของ ทล. และ ทช. ที่ได้กำหนดแผนงานสำรวจ ปรับปรุงลักษระทางกายภาพ ติดตั้งป้ายกำกับความเร็ว แบ่งเป็นเส้นทางหลวงแผ่นดินที่มีศักยภาพ ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 จังหวัดสมุทรสงคราม ,ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 จังหวัดอ่างทอง จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดชัยนาท และจังหวัดนครสวรรค์

นอกจากนี้ ยังมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 จังหวัดนครราชสีมา ,ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 จังหวัดปทุมธานี และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น ขณะที่เส้นทางทางหลวงชนบทที่มีศักยภาพ ได้แก่ ถนนราชพฤกษ์ (นบ.3021) ,ถนนนครอินทร์ (นบ.1020) ,ถนนข้าวหลาม จังหวัดชลบุรี (ชบ.1073) ,จังหวัดระยอง (รย.1035) และถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ชม.3024) เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับรายละเอียดของกฎกระทรวงดังกล่าว ได้กำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทไว้ดังนี้ 1.รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถโดยสารมีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม., รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 65 กม./ชม., รถจักรยานยนต์ ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 110 กม./ชม.

ขณะที่ รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม., รถโดยสารที่มีที่นั่งโดยสารเกิน 7 คนแต่ไม่เกิน 15 คน ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 100 กม./ชม., รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรม ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 45 กม./ชม. และรถอื่นๆ นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ให้ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. ทั้งนี้ หากรถอยู่ในช่องเดินรถขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้น มีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น ทั้งนี้ หากในทางเดินรถมีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้าๆ ให้ลดความเร็วลง และเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร และในกรณีที่ทางเดินรถ หรือช่องเดินรถใด มีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็วต่ำกว่าอัตราที่กำหนด ให้ใช้ความเร็วไม่เกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้