พาณิชย์จับมือ Cross Border E-Commerce จีนสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs ไทย

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นสักขีพยานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและบริษัท International Merchandise Exchange & Exhibition Company Limited (IMX Co., Ltd.) ในเครือ King Wai Group ผู้ให้บริการการค้าออนไลน์แบบข้ามพรมแดนครบวงจรจากจีน (Cross Border ECommerce Platform) เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับ SMEs ของไทยเข้าถึงตลาดจีนผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ของบริษัท

นางสาวบรรจงจิตต์ เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นสักขีพยานว่าการลงนามครั้งนี้ว่า การค้าแบบ Cross Border ECommerce (CBEC) หรือการค้าออนไลน์แบบข้ามพรมแดน เป็นรูปแบบการค้าสำหรับโลกดิจิทัลที่มาแรงและทดแทนการค้าแบบดั้งเดิม ผู้ซื้อสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากผู้ขายในต่างประเทศผ่านผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในรูปแบบ B2C ได้ แตกต่างจากการค้าออนไลน์ปกติที่ซื้อขายเฉพาะภายในประเทศเท่านั้น

การลงนามความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและบริษัท IMX ครั้งนี้ เนื่องจากบริษัท IMX ในเครือ King Wai Group มีจุดแข็งสำคัญ คือ เป็นผู้ให้บริการด้านการค้าแบบ CBEC แบบครบวงจรในประเทศจีน มีเวปไซด์ KJT.com รองรับ มีบริการด้านขนส่ง การกระจายและบริหารจัดการคลังสินค้า รวมถึงภาษี/ชำระเงินเพื่อให้ผู้บริโภคชาวจีนสามารถสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งยังมีพื้นที่ศูนย์แสดงสินค้าถาวรในเซี่ยงไฮ้และเมืองอื่นๆด้วย จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะSMEs ให้สามารถเข้าถึงตลาดจีนแบบครบวงจรไร้รอยต่อทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ได้ง่ายดายขึ้น 

ปัจจุบัน CBEC เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน China ECommerce Association รายงานว่า ปี 2018 การค้า CBEC ในจีนคิดเป็นมูลค่า 9 ล้านล้านหยวน และในปี 2020 คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 12 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมจาก China Import Consumer Market Research Report พบว่าในปี 201การสั่งซื้อสินค้าของชาวจีนผ่าน CBEC มีมูลค่า 56,590 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 120 และคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวแบบก้าวกระโดดแบบนี้ไปอีกหลายปี

ช่องทางการค้า CBEC ได้รับความนิยมสูงเนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคชาวจีนเข้าถึงสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น มีตัวเลือกหลากหลายโดยเฉพาะสินค้าที่มีแบรนด์ คุณภาพสูง ประกอบกับรัฐบาลจีนให้ความสำคัญและสนับสนุนอย่างมากทั้งการออกกฎระเบียบอำนวยความสะดวกกว่าช่องทางการค้าปกติหรือออนไลน์ปกติ และสิทธิประโยชน์ทางภาษีต่างๆ

เริ่มปี 2019 รัฐบาลจีนยกเว้นภาษีศุลกากรให้กับผู้บริโภคสำหรับการสั่งซื้อสินค้าที่ผ่านทาง CBEC Platform สำหรับการสั่งซื้อต่อครั้งไม่เกิน 5,000 หยวน และยอดสั่งซื้อรวมทั้งปีไม่เกิน 26,000 หยวนหรือประมาณ 123,000 บาท (De Minimis Value) รวมทั้งเรียกเก็บภาษี VAT และภาษีสรรพาสามิตร้อยละ 70 ของอัตราปกติ ซึ่งทำให้ผู้ขายมีต้นทุนราคาขายต่ำกว่าช่องทางอื่นถึงร้อยละ 20-50  ประกอบกับการเพิ่มรายการสินค้าที่อยู่ใน CBEC เป็น 1,300 รายการ และการลดกฎระเบียบขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกและวางระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าภายใน 3-7 วัน แทนการค้าออนไลน์ปกติที่จะใช้เวลานานถึง 15 วัน

กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่าช่องทางการเข้าตลาดจีนผ่าน CBEC จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษีทำให้ต้นทุนการขายต่ำกว่าช่องทางปกติหรือออนไลน์แบบดั้งเดิม กฎระเบียบใหม่ที่จะช่วยลดเวลาและเพิ่มกำไร ขจัดความยุ่งยากในการหาตัวแทนและสามารถที่จะขายสินค้าที่สะดวกขึ้น จึงอยากสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ที่มีแบรนด์และต้องการสร้าง
แบรนด์เป็นของตัวเองไม่ควรพลาด เร่งศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าตนอย่างละเอียด พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขายสินค้าไทยผ่าน 
CBEC ทั้งในเวปไซด์ Thaitrade.com และของเครือข่ายพันธมิตรออนไลน์ทุกเจ้าที่กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่าจะผลักดันสินค้าไทยเจาะตลาดสากล โดยใช้โอกาสและช่องทางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด