พร้อมเปย์! ทล.-ทช. เร่งจัดซื้อตรงสหกรณ์ 2 ผลิตภัณฑ์ยางพารา ‘RFB-RGP’ คาดทยอยส่งมอบล็อตแรก ก.พ.นี้ พร้อมติดตั้งเฟสแรกเสร็จ ส.ค. 64

ทล.-ทช. พร้อมซื้อ 2 ผลิตภัณฑ์ยางพารา “แผ่นยางหุ้มคอนกรีต-เสาหลักนำทาง” หลังกำหนดราคากลาง พ่วงตรวจสอบโรงงานแล้ว คาดเริ่มจัดซื้อจัดจ้าง-ทยอยจัดส่งล็อตแรกภายใน ก.พ.นี้ แล้วเสร็จครบเฟสแรก ส.ค.64 ด้าน “ทางหลวงชนบทฯ” เร่งประเมินผลการดำเนินงาน ลุยทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยภายหลังการประชุมความคืบหน้าการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้กำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) มาใช้บนถนน ทล. และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ ว่า การประชุมในวันนี้ (25 ม.ค. 2564) ได้ติดตามความคืบหน้า และรายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงาน 2 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะทำงานกำหนดราคากลางยางพารา โดยมีตนเป็นประธานคณะทำงาน และคณะทำงานกำหนดคุณลักษณะ (Specification) ตรวจสอบและรับรองโรงงานผลิต RFB และ RGP โดยมีนายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดี ทช. เป็นประธานคณะทำงาน

โดยในส่วนของการกำหนดราคากลางของทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ จะขึ้นอยู่กับราคาน้ำยางพาราด้วยนั้น ขณะนี้ได้กำหนดราคากลางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบ่งเป็น ราคา RFB อยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/เมตร และราคา RGP อยู่ที่ประมาณ 1,700-1,800 บาท/ต้น (ราคาน้ำยางพารา 35-40 บาท/กิโลกรัม) ขณะที่ การกำหนดคุณลักษณะ (Specification) ตรวจสอบและรับรองโรงงานผลิต RFB และ RGP นั้น คณะทำงานชุดดังกล่าว ได้ดำเนินการตรวจโรงงานผลิต RFB แล้ว จำนวน 5 โรงงาน จากทั้งหมด 13 โรงงาน และตรวจสอบโรงงานผลิต RGP ได้ตรวจแล้ว 11 โรงงาน จากทั้งหมด 25 โรงงาน

สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ ทล. และ ทช. จะเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงกับสหกรณ์ชาวสวนยาง ที่ผ่านการรับรองจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งรายชื่อสหกรณ์ฯ มายัง ทล. และ ทช. จากนั้นจะนำไปตรวจสอบราคาให้สอดคล้องกับราคากลางที่กำหนด ก่อนที่จะประกาศเชิญชวนให้สหกรณ์ที่ผ่านการรับรอง มายื่นเอกสารฯ เพื่อขายผลิตภัณฑ์ยางพารา ก่อนคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสมต่อไป

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของ ทล. คาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จ และทยอยรับมอบ RGP ล็อตแรก เพื่อนำมาติดตั้งภายใน ก.พ.นี้ และติดตั้งครบ 200,000 ต้นภายใน ส.ค. 2564 รวมไปถึงการติดตั้ง RFB ที่จะแล้วเสร็จในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้ ทล.ได้ติดตั้งกำแพงคอนกรีตระยะแรกไปแล้ว เกิน 50% จากระยะทางทั้งหมดประมาณ 200 กิโลเมตร (กม.) ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลาง วงเงิน 2,770 ล้านบาท เมื่อช่วง ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา ขณะที่ ทช. การติดตั้ง RGP จำนวนประมาณ 200,000 ต้น และการติดตั้ง RFB ระยะทางประมาณ 100 กว่า กม. คาดว่า จะแล้วเสร็จในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ การดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าวนั้น จะยึดแนวทาง 2 เรื่อง คือ 1.กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติม RFB และ RGP เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราตามนโยบายรัฐบาลในโครงการส่งเสริมการใช้ยางพาราของภาครัฐ โดยเป็นการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจง และ 2.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560

ด้านนายปฐม กล่าวว่า หลังจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อประเมินผลโครงการนั้นกำลังดำเนินการควบคู่ด้วย เบื้องต้นจากประเมินช่วงเทศกาลวันหยุดยาวที่ผ่านมา เช่น เทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่าถนนของ ทล. และ ทช. ที่ได้ติดตั้งแบริเออร์หุ้มยางธรรมชาติจำนวนอุบัติเหตุรถข้ามเลนประสานงาแทบไม่มี รวมทั้งเมื่อเกิดอุบัติเหตุความรุนแรงลดลง

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการดังกล่าว พบว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับความสะดวก เพราะจากเดิมถนนเป็นเกาะสี และต้องการกลับรถบริเวณไหนก็ได้ แต่เมื่อติดตั้งแบริเออร์หุ้มยางธรรมชาติแล้วทำให้กลับรถไม่ได้ สัญจรยาก จนต้องมีข้อเสนอข้อต่อรองมาที่ ทล. ทช. ให้เปิดจุดกลับรถบริเวณต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้องใช้เวลาปรับตัวเพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง โดยก่อนจะดำเนินการโครงการได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่เรียบร้อย