ม.หัวเฉียวฯ รำไท้เก๊ก 1,000 คน และจัดแข่งขันไท้เก๊ก มฉก.ครั้งที่ 4 เฉลิมพระเกียรติ ร.10

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) รวมพลนักศึกษาอาจารย์จิตอาสาจากชมรมไท้เก๊กทั่วประเทศกว่า 1,000 คน รำไท้เก๊กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 ณ สนามกีฬากลาง มฉก. ซึ่งเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่มีผู้รำไท้เก๊กมากที่สุดในประเทศไทย

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ศ.พิเศษประสิทธิ์ โฆวิไลกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ดำริริเริ่มไท้เก๊กในมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติในสมัยที่ท่านเป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยปรมาจารย์มวยบู๊ตึ๊ง (เอี๋ยน หลี เหมี๋ยน) แขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ร่วมชมการรำไท้เก๊ก ณ สนามกีฬากลาง มฉก.

นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจากท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมลงนามเป็นที่ระลึกและเป็นประธานเปิดการแข่งขัน ท่านกล่าวถึงการแข่งขันไท้เก๊กในครั้งนี้ว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันไท้เก๊ก  มฉก. ครั้งที่ 4 ในวันนี้ ก่อนอื่นผมต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีที่มหาวิทยาลัยได้จัดการแข่งขันไท้เก๊กมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ซึ่งผมคิดว่ามหาวิทยาลัยคงจะมีการจัดการแข่งขันเช่นนี้ต่อไปทุกปี เพราะมหาวิทยาลัยมีเอกลักษณ์ด้านไทย – จีน ที่โดดเด่นมาก รวมทั้งมีผู้ให้การสนับสนุนอยู่พอสมควรด้วยเป็นกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเสริมสุขภาพของคนในสังคม

การกำหนดให้นักศึกษาทุกคนได้เรียนไท้เก๊กนั้นผมถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่ดีมาก เพราะไท้เก๊กนอกจากจะช่วยฝึกฝนร่างกายให้แข็งแรงสมดุลดีแล้วยังช่วยเจริญสติ พัฒนาจิตใจให้มีความสงบเย็น รู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง นับเป็นการพัฒนาคุณภาพเยาวชนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เป็นภาระแก่สังคม สามารถช่วยเหลือตนเอง ครอบครัว บ้านเมืองต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี และยังเป็นรากฐานที่ดีของการดำรงไว้ซึ่งศาสตร์และศิลปะการต่อสู้อันทรงคุณค่าของมวลมนุษยชาติ” หลังจากนั้นท่านได้ให้เกียรติมอบโล่และเกียรติบัตรแก่ผู้สนับสนุนการแข่งขันและอาจารย์จิตอาสาฝึกสอนรำไท้เก๊กให้แก่นักศึกษา ปิดท้ายด้วยชุดการแสดง ได้แก่ นาฏการหุ่นคนเทิดไท้องค์ราชัน และการรำมวยของปรมาจารย์มวยบู๊ตึ๊ง (เอี๋ยน หลี เมี๋ยน)

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

การแข่งขันเริ่มขึ้นในแต่ละประเภทการแข่งขัน ประกอบด้วย รำมวยตระกูลหยาง (ไม่จำกัดถ่วงท่า) รำมวย 24 ท่า 40 ท่า และ 42 ท่า รำกระบี่มาตรฐานการแข่งขัน 32 ท่า และ 42 ท่า รำพัดกงฟู ประเภทบุคคล และรำกระบี่ตระกูลหยาง นักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมีตั้งแต่อายุ 5 ปี – 71 ปีขึ้นไป  ได้ประลองท่วงท่าการรำไท้เก๊กให้ถูกต้องตามหลักสำคัญ 10 ประการ ได้แก่ 1.ศีรษะตั้งตรง แขวนลอย 2.เก็บทรวงอก ยืดแผ่นหลัง 3.ผ่อนคลายเอว 4.แบ่งแยกเท้าเต็ม-ว่าง 5.จมไหล่ ถ่วงศอก 6.ใช้จิต ไม่ใช้แรง 7.บน-ล่างประสานสอดคล้อง 8.ในนอกประสานรวมเป็นหนึ่ง 9.ต่อเนื่องไม่ขาดตอน และ 10.แสวงหาความสงบในการเคลื่อนไหว

โดยคณะกรรมการทุกท่านต้องทำงานหนักเนื่องจากต้องพิจารณาท่วงท่าของทุกคนในสนามแข่งอย่างพินิจพิเคราะห์ซึ่งจะนั่งทั้ง 4 มุมของสนามการแข่งขันดำเนินไปจนสิ้นสุดลงช่วงเช้า และเริ่มภาคบ่ายด้วยการแสดงจากชมรมไท้เก๊ก 17 แห่งทั่วประเทศซึ่งทุกชมรมได้ฝึกซ้อมและรอคอยเวลาที่จะได้มาแสดงบนเวทีแห่งนี้ เมื่อชุดการแสดงเสร็จสิ้นก็มาถึงเวลาสำคัญของการประกาศผลการตัดสินแบ่งเป็น 3 รางวัลในแต่ละประเภท ได้แก่ เหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง การแข่งขันปีนี้สิ้นสุดลงแต่จะเป็นการเริ่มต้นของนักกีฬารำไท้เก๊กทุกคนที่จะฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันครั้งต่อไปที่มหาวิทยาลัยจะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในปี 2562

มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติเริ่มจัดกิจกรรมไท้เก๊กตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 มีนักศึกษาผ่านการเรียนไท้เก๊กกว่า 20,000 คน ปัจจุบันเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งเดียวที่สอนการรำไท้เก๊กและมีนักศึกษาเรียนวิชารำไท้เก๊กมากที่สุดในประเทศไทย โดยจัดแข่งขันครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา  2557 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและเรียนรู้ศาสตร์ของไท้เก๊ก เป็นเวทีแข่งขันประลองความสามารถด้านไท้เก๊ก และเป็นการบริการทางสังคม

กิจกรรมไท้เก๊กของมหาวิทยาลัยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สมาคมไท้เก๊ก (ประเทศไทย) ชมรมไท้เก๊กมิตรสัมพันธ์ คณะที่ปรึกษาโครงการ ผู้มีอุปการคุณ คณะผู้ตัดสิน และวิทยากรจิตอาสาจากชมรมไท้เก๊กต่างๆ หากท่านใดสนใจการรำไท้เก๊กฝึกทั้งร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ อ.พัทธนันท์ เลิศคุณอธินนท์ และอาจารย์อัจฉราพรรณ ช้างเขียว โทร.02-312-6300-79 ต่อ 1447 หรือแผนกประชาสัมพันธ์ต่อ 1140 อีเมล์ jiab.prhcu@gmail.com หรือ @Jiab1605