‘ขนส่งฯ’ เร่งเวนคืนที่ดิน 121 ไร่ วงเงิน 266.95 ล้าน สร้าง ‘ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม’ ตอกเข็มปี 65 เปิดใช้เต็มรูปแบบปี 68

“ขนส่งฯ” เร่งเวนคืนที่ดิน 121 ไร่ วงเงิน 266.95 ล้าน ผุด “ศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม” ประตูขนส่งสินค้าเชื่อม “สปป.ลาว-เวียดนาม-จีนตอนใต้” คาดประกาศเชิญชวนเอกชน PPP ต้นปีหน้า ก่อนเริ่มตอกเข็มปี 65 เปิดใช้เต็มรูปแบบในปี 68 พร้อมเล็งขยายพื้นที่ “สุราษฎร์-หนองคาย-มุกดาหาร-ขอนแก่น”

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2564 ขบ.ได้รับการจัดสรรงบประมาณ วงเงิน 3,701.91 ล้านบาท โดยในวงเงินดังกล่าว เป็นงบประมาณค่าเวนคืนที่ดินในโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 266.95 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ ขบ.เตรียมดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2562 ในพื้นที่ 121 ไร่ (46 แปลง) ได้แก่ ที่ดินเอกชน 41 แปลง ที่สาธารณะประโยชน์ 4 แปลง และที่ดินของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) 1 แปลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม และที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะทำสัญญาและจ่ายค่าเวนคืนที่ดินได้ภายในต้นปีหน้า

นอกจากนี้ ขบ.ยังอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารข้อเสนอ (Request for Proposal: RFP) ซึ่งมีความคืบหน้าแล้วประมาณ 80% คาดว่า RFP จะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการประกาศเชิญชวนเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ในช่วงต้นปี 2564 โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2565 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี หรือแล้วเสร็จในปี 2567 ก่อนที่จะเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบในปี 2568

นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์การขนส่งนครพนมนั้น ใช้งบประมาณลงทุนรวม 1,361.35 ล้านบาท แบ่งเป็น ภาครัฐลงทุน 1,043.83 ล้านบาท อาทิ การจัดหาที่ดินก่อสร้างอาคารสำนักงาน และโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ขณะที่ภาคเอกชนลงทุน 317.52 ล้านบาท อาทิ ลงทุนก่อสร้างอาคารใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า คลังสินค้าทั่วไป อาคารซ่อมบำรุง โรงอาหารทั่วไป จุดตรวจทางเข้า–ออก สถานีชั่งน้ำหนัก

สำหรับศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของไทย และเป็นประตู (Gateway) การขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ผ่านเส้นทาง R12 เชื่อมต่อระหว่างไทย–สปป.ลาว–เวียดนาม–จีนตอนใต้ (นครหนานหนิงมณฑลกวางสี) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ดังกล่าว จะเป็นลานเปลี่ยนหัวลาก–หางพ่วงระหว่างรถบรรทุกไทยกับรถบรรทุกต่างประเทศ ลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุในประเทศเพื่อนบ้าน และจะเป็นพื้นที่รวบรวม และกระจายสินค้าบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยลดปริมาณการขนส่งสินค้าแบบไม่เต็มคัน และรถเที่ยวเปล่า

ขณะเดียวกัน ศูนย์ดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่สำหรับตรวจปล่อยสินค้าของหน่วยงาน CIQ แบบ One Stop Service และสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่ Common Control Area (CCA) ในอนาคต และให้บริการกิจกรรมอื่นๆ เช่น ปลั๊กเสียบตู้ Reefer / ให้บริการเช่าคลังสินค้าทัณฑ์บนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม นอกจากการดำเนินการโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม แล้วนั้น ขบ. มีแผนที่จะดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น สุราษฎร์ธานี หนองคาย มุกดาหาร ขอนแก่น เป็นต้น

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับการจัดสรรวงเงิน 3,701.91 ล้านบาท และเป็นค่าเวนคืนในโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนมข้างต้นนั้น ในวงเงินดังกล่าว ขบ.มีแผนนำมาปรับปรุงระบบ และข้อมูลต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน ตามที่ก่อนหน้านี้ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น อาทิ ศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กรมทางหลวง (ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก ระบุว่า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ตั้งอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมือง ประชิดด่านพรมแดนนครพนม และสะพานมิตรภาพไทย–ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม–คำม่วน) เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน รองรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านเส้นทาง R12 เชื่อมต่อระหว่างไทย–สปป.ลาว–เวียดนาม–จีนตอนใต้ (นครหนานหนิงมณฑลกวางสี) โดยเมื่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการ จะรองรับปริมาณสินค้าได้สูงสุด 164,431 TEUs รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งกับระบบราง (Shift Mode) ผ่านแนวรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่–นครพนม โดยได้หารือและบูรณาการการทำงานร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อให้มีการเชื่อมต่ออย่างไร้รอยต่อควบคู่ด้วย