โควิดเป็นเหตุ! ‘สภาพัฒน์ฯ’ ตีกลับรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง วางเป้าศึกษาเสร็จ 3 เดือน ปักหมุดเส้นทางนัมเบอร์วัน ‘ขอนแก่น-หนองคาย’

โควิดเป็นเหตุ! “สภาพัฒน์ฯ” ตีกลับรถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง หลัง รฟท. เงียบตอบคำถาม ด้าน “กรมรางฯ” เร่งศึกษาทบทวนแผน-จัดลำดับความสำคัญสอดรับสถานการณ์โควิด-19 เน้นความคุ้มค่าการลงทุน วางเป้าศึกษาเสร็จ 3 เดือน พร้อมปักหมุด “ขอนแก่น-หนองคาย” เส้นทางนัมเบอร์วัน ชัดเจนภายใน 1 เดือน สนองยุทธศาสตร์ชาติ-เชื่อม สปป.ลาว

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยภายหลังการประชุมการจัดลำดับความสำคัญโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาท โดยมีนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ ขร. ไปศึกษา ตรวจสอบ และทบทวนโครงการฯ ใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งพิจารณาผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจ และปริมาณการขนส่งสินค้าว่า เป็นไปตามสมมติฐานเดิมที่กำหนดไว้หรือไม่ ตามข้อซักถามของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ที่ได้ถามไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เมื่อช่วง พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เนื่องจากการรถไฟฯ ยังไม่สามารถตอบคำถามได้

ขณะเดียวกัน สาเหตุที่จะต้องมาทบทวนโครงการใหม่นั้น เนื่องจากด้วยสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหลังเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ติดลบ จึงต้องมาพิจารณาการลงทุนว่า มีความคุ้มค่าจากการลงทุนหรือไม่ การขนส่งสินค้าทางรางสามารถแข่งขันกับโหมดสินค้าอื่นได้หรือไม่ และพิจารณาความจำเป็น รวมถึงการออกแบบสถานีว่าจะต้องมีการปรับลดหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาศึกษาทบทวนไม่เกิน 3 เดือนนับจากนี้ ก่อนที่จะเสนอมายังที่ประชุมฯ และกระทรวงคมนาคม เพื่อเร่งรัดผลักดันโครงการ จากนั้นจะเสนอไปยังสภาพัฒน์ฯ อีกครั้ง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หากโครงการใดต้องมีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จะต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ด้วย

นายสรพงศ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการพิจารณาโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 โครงการนั้น เบื้องต้นประเมินว่า สายขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะต้องเร่งขับเคลื่อน เนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ชาติ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของ สปป.ลาว ในเส้นทางนั้น ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2564 อย่างไรก็ตาม คาดว่า เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย จะศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป ขณะเดียวกัน จะต้องมีการพิจารณาก่อสร้างสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง โดยมีพิธีการศุลกากรด้วย (ICD Port) ที่บริเวณสถานีรถไฟนาทา จังหวัดหนองคายด้วย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จ จากเดิมจะเป็นเพียงแค่ย่านกองเก็บสินค้า (CY) เท่านั้น

ขณะที่ อีก 6 เส้นทางที่เหลือนั้น ได้จัดลำดับความสำคัญเบื้องต้นไว้แล้ว คือ สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม., สายชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม., สายสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม., สายปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม., สายชุมทางหาดใหญ่–ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. และสายเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. ทั้งนี้ ยอมรับว่า บางโครงการอาจจะต้องเลื่อนการดำเนินการออกไปก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยยืนยันว่า ไม่ได้ยกเลิกโครงการแต่อย่างใด

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า คาดว่าการดำเนินการโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.73 แสนล้านบาทนั้น เบื้องต้นมีแนวคิดที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) แต่เนื่องจากอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (FIRR) ยังไม่มากพอที่จะดึงดูดนักลงทุน จึงต้องไปพิจารณารายละเอียดอีกครั้งต่อไป