‘ศักดิ์สยาม’ ปิ้งไอเดีย! เปิดพื้นที่หน่วยงาน ‘คมนาคม’ วางขาย OTOP ตลอดปี สนองนโยบาย ‘บิ๊กตู่’ คาดเริ่มสตาร์ทภายในปี 64-ต้นปี 65

“ศักดิ์สยาม” ปิ้งไอเดีย! เปิดพื้นที่ “คมนาคม” วางขายสินค้า OTOP ตลอดปี หวังช่วยเหลือประชาชน-กระตุ้นเศรษฐกิจยั่งยืน สนองนโยบาย “บิ๊กตู่” เล็งนำร่องใช้ “สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรถไฟ-ทางด่วน” วางแนวทางค้าปลีกสมัยใหม่-แบ่งผลกำไร คาดเริ่มสตาร์ทภายในปี 64-ต้นปี 65

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะนำสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาวางจำหน่ายในพื้นที่ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคมที่มีความพร้อมในการดำเนินการ เช่น สถานีกลางบางซื่อ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สถานีรถไฟฟ้า ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริเวณทางพิเศษ (ทางด่วน) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) รวมถึงศูนย์จำหน่าย (Mall) ทั้งในกรุงเทพมหานคร และภูมิภาค เป็นต้น จากเดิมที่ผู้ประกอบการหรือชุมชนที่ผลิตสินค้า OTOP จะมีพื้นที่จำหน่ายภายในการจัดงานที่ศูนย์แสดงสินค้า เมืองทองธานี เพียงแค่ 9 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมภายในปี 2564 หรือต้นปี 2565

“แนวคิดนี้ สืบเนื่องจากตนเคยทำงานที่กระทรวงมหาดไทย จึงได้ตั้งคำถามว่า ทำไมตลาดสินค้า OTOP จึงจัดจำหน่ายที่ศูนย์แสดงสินค้าแค่ 9 วันเท่านั้น จึงมองว่าควรจะเป็นเหมือน OTOP ที่มีการจัดงานประจำปีที่เมืองทองฯ ซึ่งเป็นการจำกัดวัน และอยู่แค่ในกรุงเทพฯ ทำไมเราถึงจัดให้มี OTOP แบบ 365 วันไม่ได้ หลังจากนี้จะต้องมีการหารือร่วมกับเจ้าของพื้นที่ต่อไป เช่น ที่สถานีกลางบางซื่อ ต้อไปดูกรอบของการบริการพื้นที่เป็นอย่างไร มีเรื่องเชิงพาณิชย์ไหม ซึ่งถ้ามีอยู่แล้วจะสามารถบริการจัดการให้ประชาชนมาขาย OTOP ได้ไหม” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า เรื่องดังกล่าวนั้นจะเป็นมิติที่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะสร้างความชัดเจนให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผนวกกับกรมพัฒนาชุมชน จะเป็นผู้คัดเลือกคุณภาพว่า ใครที่มีความเหมาะสม และต้องปรับปรุง หรือหากพร้อมที่จะยกระดับจากสินค้า OTOP เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ก็พัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชน และสร้างความยั่งยืนด้วย

ในส่วนแนวทางในการบริการจัดการให้ผู้ประกอบการนำสินค้า OTOP มาจำหน่ายนั้น เบื้องต้นจะเป็นลักษณะการตลาดรูปแบบค้าขายปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) โดยแบ่งปันผลกำไร (Profit Sharing) ในระบบที่เป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าว ไม่ได้เป็นการแสวงหากำไรเท่านั้น แต่เป็นการดึงศักยภาพของผู้ประกอบกอบการ OTOP และมองว่า ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

“เรื่องนี้ วิน-วิน และคมนาคมไม่ได้เสียอะไร ถ้าเป็น Profit Sharing ที่มีความเป็นธรรม ผู้ที่ค้าขายสินค้า OTOP สามารถมีสถานที่จำหน่ายหรือแสดงสินค้าตลอดเวลา โดยมีการกำกับดูแลจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มองว่าวันนี้สิ่งที่ต้องทำตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี คือ การกระตุ้นความเชื่อมั่นให้กับคนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรีบทำ” นายศักดิ์สยาม กล่าว