รฟท. ซาวด์เสียง ‘ชาวเมืองตราด’ สรุปผลศึกษาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 2 คาดสร้างแล้วเสร็จปี 71 คิวต่อไปลุยฟังเสียง ‘ชาวจันทบุรี-ระยอง’

รฟท. ซาวด์เสียง “ชาวเมืองตราด” สรุปผลศึกษาไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน เฟส 2 ผ่าน 3 จังหวัด ระยะทาง 190 กม. คาดก่อสร้างแล้วเสร็จปี 71 เพิ่มศักยภาพคมนาคมขนส่งภาคตะวันออก คิวต่อไปลุยฟังเสียง “ชาวจันทบุรี-ระยอง”

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า วันนี้ (4 ส.ค. 2563)  เวลา  09.00 น. ณ ห้องประชุมโรงแรมเอวาด้า อำเภอเมือง จังหวัดตราด ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน ลิมป์หวังอยู่ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อสรุปผลการศึกษาโครงการ (การประชุมใหญ่ระดับจังหวัด) งานจ้างที่ปรึกษาวิเคราะห์และศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงินและแนวทาง การลงทุนที่เหมาะสม ตลอดจนงานออกแบบเบื้องต้นโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัดระยอง-จันทบุรี-ตราด เพื่อนำเสนอสรุปผลการศึกษาโครงการ ทางด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ รฟท. ได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจังหวัด ระยอง-จันทบุรี-ตราด ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท วิศวกรรมธรณีและฐานราก จำกัด บริษัท ทีแอลที คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัท เอ็มเอชพีเอ็ม จำกัด และบริษัท ดาวฤกษ์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด โดยมีแนวเส้นทางโครงการที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ 11 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ประกอบด้วย สถานีรถไฟ จำนวน 4 สถานี ได้แก่ สถานีระยอง สถานีแกลง สถานีจันทบุรี และสถานีตราด และมีศูนย์ซ่อมบำรุงจำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ซ่อมบำรุงจังหวัดระยอง มีระยะทางรวมประมาณ 190 กิโลเมตร

สำหรับโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของสนามบินอู่ตะเภาผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง- บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอยประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี-แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กิโลเมตร วิ่งตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่บางช่วงผ่านอำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ เข้าสู่สถานีจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแยกเขาไร่ยา ผ่านอำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เข้าอำเภอเขาสมิง และมาสิ้นสุดโครงการบริเวณสถานีตราด ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บนทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) ห่างจากสามแยกตราด ประมาณ 2 กิโลเมตร

ในส่วนของโครงการดังกล่าว ออกแบบขนาดรางเป็น 1.435 เมตร มีจุดตัดทางรถไฟ 303 แห่ง โดยมีแนวคิดหลักในการออกแบบแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟ คือ แนวเส้นทางรถไฟใหม่ของการรถไฟฯ ทั้งหมดจะต้องเป็นระบบปิด มีการจำกัดการเข้า-ออกที่มีประสิทธิภาพ และปราศจากจุดตัดที่ระดับเดียวกันกับระบบขนส่งทางถนนและระบบอื่นๆ พร้อมทั้งมีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟ และทำการก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเส้นทางรถไฟ โดยคาดว่าโครงการจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปี 2571 จะช่วยประหยัดระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดตราดประมาณ 2 ชั่วโมง 15 นาที (กรณีจอดเฉพาะสถานีหลัก)

ในส่วนรูปแบบแนวคิดการออกแบบสถานีนั้น รฟท.ได้คำนึงถึงความสะดวกสบายในการใช้บริการ ที่ตั้งสถานีสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งที่หลากหลายในพื้นที่ นอกจากนี้ได้ออกแบบให้มีการผสมผสานแสดงถึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นด้วยการนำรูปทรงผลไม้ที่โดดเด่นในแต่ละพื้นที่ มาประยุกต์ใช้ในงานสถาปัตย์ เพื่อส่งเสริมนโยบายการจัดตั้งระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก

ทั้งนี้ รฟท. ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วมโดยได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัดตามแนวเส้นทางโครงการ โดยวันที่ 5 ส.ค. 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.จันทบุรี และวันที่ 6 ส.ค. 2563 จะจัดการประชุมที่ จ.ระยอง จากนั้นที่ปรึกษาฯ จะรวบรวม ข้อคิดเห็น และ ข้อเสนอแนะที่ได้รับจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โครงการฯ นำมาประกอบผลการศึกษาโครงการ เพื่อนำเสนอกับ รฟท.ต่อไป โดยผู้สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดของโครงการฯ ได้ที่ www.hsrrayongchantrat.com