‘บวท.’ จ่อเชื่อมข้อมูลการบิน ‘CLMV’ แก้เที่ยวบินดีเลย์-หนุนเที่ยวอาเซียน

บวท. จ่อเชื่อมบิ๊กดาต้าการบินซีแอลเอ็มวีปีหน้า หวังแก้ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์ พร้อมสนับสนุนการท่องเที่ยวอาเซียน ขณะเดียวกันขีดเส้นกำหนดจุดเป้าหมายวันเวย์รูทภายใน 1 เดือน ลั่นเที่ยวบินโลว์ซีซั่นโต สวนตลาดท่องเที่ยวทรุด แม้เจอวิกฤติทัวร์จีน คาดทั้งปีมีเที่ยวบินรวม 1.09 ล้านเที่ยวบิน เผยไฮซีซั่นเดือนแรกขยายตัว 6.6% ลุ้นไตรมาสสุดท้ายโตทะลุ 7%

นายสมนึก รงค์ทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท. เปิดเผยว่า บวท.ได้เปิดศูนย์บริหารเครือข่ายจราจรทางอากาศ (ATM NMC) ซึ่งศูนย์ดังกล่าว ได้รวมการทำงานของศูนย์บริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ศูนย์ประสานงานบริหารจราจรทางอากาศระหว่างทหารและพลเรือน สำนักงานประกาศผู้ทำงานในอากาศระหว่างประเทศ (NOTAM
Office) ศูนย์บริหารข้อมูลแผนการบิน ศูนย์รวบรวมและคลังข่าวอากาศการบินกรุงเทพ และศูนย์สื่อสารการบิน หรือการควบรวมข้อมูลแบบบิ๊กดาต้าและเก็บไว้บนอากาศ (Cloud Sourcing) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริหารรองรับตลาดการบินของประเทศที่เติบโตอย่างต่ำปีละ 6%
ดังนั้น จึงมีแผนที่จะกระจายความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบบิ๊กดาต้ากับเพื่อนบ้านอาเซียนเพื่อรองรับตลาดที่เติบโตมากและเป็นการช่วยเหลือเพื่อนบ้านอาเซียนให้มีมาตรฐานบริหารจัดการเที่ยวบินเพื่อลดการดีเลย์และเพิ่มสล็อตทางการบิน โดยในปี 2562 จะเริ่มควบรวมข้อมูลกับกลุ่มซีแอลเอ็มวีทั้งกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ก่อนขยายรัศมีออกไปยังกลุ่มชาติที่ใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชม. เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน และตั้งเป้าครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเซียไปยังจีนและญี่ปุ่นอีกด้วย

สำหรับการควบรวมข้อมูลดังกล่าวกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนนั้น จะทำให้สามารถรับรู้ถึงปัญหาความแออัดของสนามบินชาติอาเซียน เพื่อร่วมกันแก้ไขเพราะปัจจุบันมีสนามบินที่เป็นคอขวดหลายแห่งทำให้เกิดดีเลย์เที่ยวบินภูมิภาค และยังทำให้เที่ยวบินเส้นไทย-อาเซียนมีความแม่นยำมากขึ้น นำไปสู่การเพิ่มสล็อตเที่ยวบินและลดดีเลย์ในสนามบินหลักอย่างดอนเมืองและสนามบินสุววรณภูมิได้ 10-20% เพราะทั้ง 2 แห่ง เป็นฮับของสายการบินโลว์คอสต์และเส้นทางบินอาเซียน ปัจจุบันการบริหารจัดการสล็อตเที่ยวบินคิดเป็นชั่วโมง ดังนั้นในอนาคตเมื่อควบรวมข้อมูลแล้วจะสามารถบริหารสล็อตเป็นรายนาที หรือถึงขั้นรายวินาทีแบบในยุโรป เช่น จากเดิมสล็อตเที่ยวบิน 5 นาที/ลำถ้าแม่นยำแล้วอาจลดสล็อตเที่ยวบินเป็น 2-3 นาที/ลำ อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าแผนบริหารห้วงอากาศใหม่แบบ One-Way Traffic กำหนดแบบวันเวย์ หรือเส้นทางแบบไปทาง-กลับทาง ลดการบินตัดกัน อีกทั้งยังสามารถเพิ่มความจุของปริมาณจราจรทางอากาศ จะต้องหารือทำความเข้าใจกับสายการบิน สนามบิน กองทัพ (ด้านความมั่นคง) และขออนุญาตสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องกลุ่มสนามบินที่จะเริ่มในขั้นต้นภายในเดือนหน้า เพื่อเพิ่มขีดรองรับเที่ยวบินอีก 2 เท่า หรือจาก 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี เป็น 2 ล้านเที่ยวบิน/ปี

นายสมนึก กล่าวต่ออีกว่า ตลาดการบินในภาพรวมของประเทศยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะเจอวิกฤติเหตุการณ์นักท่องเที่ยวจีนและตัวเลขตลาดท่องเที่ยวที่ทรุดหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่ยังคงมองไทยเป็นจุดหมายของการเดินทาง โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซั่นที่ผ่านมา หรือช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค. นั้น พบว่ามีเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 256,962 เที่ยวบิน เติบโตขึ้น 7.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน
ซึ่งอยู่ที่ 239,608 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเดือน ก.ค. รวม 87,386 เที่ยวบิน เดือน ส.ค. รวม 88,526 เที่ยวบิน และเดือน ก.ย. รวม 81,050 เที่ยวบิน
ทั้งนี้ จึงคาดว่าในช่วงไฮซีซั่น หรือฤดูการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้นั้น ตลาดมีแนวโน้มกลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยปริมาณเติบโตไม่ต่ำกว่า 6% เมื่อดูจากตัวเลขเที่ยวบินเดือนแรก คือ ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามียอดรวม 86,199 เที่ยวบิน คิดเป็น 2,871 เที่ยวบิน/วัน ขยายตัว 6.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยอดรวมเที่ยวบินตลอดปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 1.09 ล้านเที่ยวบินขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ราว 1.02 ล้านเที่ยวบิน

รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในปี 2560-2579 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณจราจรทางอากาศทั่วโลกจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 4.4% ต่อปี และจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุก 15 ปี โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5.5% ต่อปี สูงกว่ายุโรป (3.3%) และอเมริกาเหนือ (3.4%) ส่วนประเทศไทย ในปี 2561 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. มีปริมาณเที่ยวบิน 698,283 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 2,874 เที่ยวบิน และทั้งปีจะมีมากกว่า 1 ล้านเที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้น 8% จากปี 2560 และคาดว่าปี 2561 จะมีรายได้จากปริมาณจราจรทางอากาศและธุรกิจเกี่ยวเนื่องประมาณ 13,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 6.7%