‘คมนาคม’ รีวิวแผนของบฯ ปี 65 ใหม่ จัดลำดับความสำคัญ-ความจำเป็นโครงการฯ ชูบทเรียนสถานการณ์โควิด-19 ด้าน ‘การบินไทย’ ขอพิจารณาหนี้-คงสิทธิ์ตามอายุสัญญา

“คมนาคม” รีวิวแผนของบฯ ปี 65 ใหม่ จัดลำดับความสำคัญ-ความจำเป็นโครงการฯ ชูบทเรียนสถานการณ์โควิด-19 มุ่งเน้นด้านสาธารณสุข สร้างเศรษฐกิจพื้นฐาน พ่วงกระจายเม็ดเงินสู่ชุมชน ด้าน “ชัยวัฒน์” เผย “การบินไทย” ขอพิจารณาหนี้-คงสิทธิ์ตามอายุสัญญา สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งหารือข้อ กม. ลั่น! ต้องเข้าไปช่วยในฐานะสายการบินแห่งชาติ-คลังยังถือหุ้นใหญ่ พร้อมเท่าเทียมสายการบินอื่น

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น กระทรวงคมนาคมจึงมีแผนทบทวนการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ครอบคลุมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ที่จะต้องกลั่นกรองแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความคุ้มค่า จัดลำดับความสำคัญ และความเหมาะสมในการใช้งบประมาณมากที่สุด โดยนำบทเรียนจากการแพร่ระบาดดังกล่าว มุ่งเน้นการดำเนินการด้านสาธารณสุข รวมถึงระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของประชาชน ก่อให้เกิดการจ้างงาน และการกระจายเม็ดเงินไปสู่ชุมชน อาทิ การนำยางพารามาใช้ในภารกิจของกระทรวงคมนาคม, การพัฒนาลงทุนก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำข้อมูลส่งให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่ได้ให้ความเห็นว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ควรนำกรณีสถานการณ์โควิด-19 เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย

“พวกโครงการต่างๆ ที่ทำอยู่เดิมแล้ว ทั้งในส่วนของโครงการที่เป็นงบผูกพัน โครงการในปีงบประมาณ 2563-2564 ก็เดินหน้าต่อไป ส่วนโครงการที่จะดำเนินการในช่วงปี 2565-2566 ก็จะต้องมีการนำกลับมาทบทวนใหม่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น สนามบิน ถนน เป็นต้น ซึ่งต้องมาดูความเหมาะสม และความสำคัญของโครงการ โดยโครงการไหนรอได้ ก็ต้องรอ และการดำเนินการพัฒนาจะต้องได้ประโยชน์จริง เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเป็นกระทรวงที่ใช้เงินของรัฐ จึงจำเป็นต้องพิจาณาว่า ขณะนี้ประเทศจำเป็นต้องใช้อะไร ต้องมองเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานก่อนเพราะปัจจุบันคนไม่เดินทาง สินค้าขายได้น้อยลงจำต้องมองว่าถนนมีความจำเป็นหรือไม่ หรือจำเป็นแต่เป็นถนนสัญจรชุมชน และเอาเงินไปใส่เงินถนนสายเล็กๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน เพราะไม่ได้แค่ถนนแต่ได้การจ้างงานเป็นการกระจายเม็ดเงินตรงจุดด้วย ได้ทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องได้ใช้ประโยชน์ได้ยาวนาน และสามารถต่อยอดได้เพราะเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจหมดเลยรวมถึงเงินที่จ้างงานก็ได้เข้าไปหมุนในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย เราต้องคิดมากขึ้น หรือดูรูปแบบการลงทุน เช่น มอเตอร์เวย์ ที่จะ PPP ลดภาระภาครัฐ เป็นต้น” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวต่ออีกว่า ตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีนายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาการดำเนินการภายหลังจากการบินไทยได้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจว่าจะทำอย่างไรบ้างนั้น ในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในส่วนของหลักการ มองว่าการเข้าไปดูแลช่วยเหลือยังมีความจำเป็น แต่ต้องพิจารณาว่าจะเข้าไปช่วยอย่างไรได้บ้าง เนื่องจากถือเป็นสายการบินแห่งชาติ และไม่แปลกหากจะเข้าไปช่วยเหลือหรือดูแล โดยจะต้องเป็นไปตามกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในเบื้องต้นการบินไทยต้องการให้พิจารณาหนี้ ทั้งในรูปแบบการยกหนี้ และการขอลดหนี้ รวมถึงการร้องขอคงสิทธิ์ที่มีอยู่ให้ไปสิ้นสุดตามสัญญาเดิมที่กำหนดไว้ อาทิ การบินไทยเป็นคู่สัญญากับ ทอท., กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ในการเช่าพื้นที่ ทั้งนี้ จึงได้ให้หลักการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปว่า จะต้องพิจารณาข้อกฎหมายว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ และต้องปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกับสายการบินอื่นๆ ด้วย