6 ทศวรรษ ‘การบินไทย’ สู่การฟื้นฟูกิจการตาม ‘พ.ร.บ.ล้มละลายฯ’ ด้าน ‘คมนาคม’ จ่อชง ครม. ตั้ง 15 อรหันต์จัดทำแผนฟื้นฟูฯ พิจารณาสัปดาห์หน้า
ครม. เห็นชอบให้ “การบินไทย” เข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตาม “พ.ร.บ.ล้มละลาย” ด้าน “คมนาคม” จ่อเสนอ ครม. เลือกรายชื่อ 15 อรหันต์ “คณะจัดทำแผนฟื้นฟูฯ” พิจารณาสัปดาห์หน้า ก่อนลุยจัดทำแผนฯ เสร็จภายใน มิ.ย.นี้
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (19 พ.ค. 2563) ได้มีการพิจารณาแผนแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีอายุครบ 60 ปี (6 ทศวรรษ) เมื่อช่วงต้น พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมีมติพิจารณาตามมติของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) โดยไม่ขัดข้อง และเป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ โดยให้การบินไทยฯ เข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการฯ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ พ.ศ.2483 สืบเนื่องจากเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูให้สำเร็จ
นอกจากนี้ พ้นจากข้อจำกัดของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 เพื่อให้สามารถแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัท และผู้บริหาร ที่มีความรู้ความสามารถสามารถเข้ามาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ไขปัญหาได้ เพื่อให้การบินไทยหลุดพ้นจากสภาพการเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด รวมถึงให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอความเห็นต่อกระทรวงการคลัง และ คนร.เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาต่อไป
ขณะเดียวกัน ครม. ยังมีมติเห็นชอบในการกำหนดสัดส่วนถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยให้ต่ำกว่า 50% ซึ่งจะทำให้การบินไทยหลุดพ้นจากสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจ สำหรับคณะกรรมการการบินไทยจะยังคงมีอำนาจในการบริหารอยู่ และการบินไทยจะยังเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ จนกว่าจะมีการปรับลดหุ้น ในส่วนเรื่องของพนักงานที่ได้รับผลกระทบนั้น จะหารือกับสหภาพแรงงานการบินไทยต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์สื่อสาร และบริหารจัดการไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพคล่องของสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ และสหกรณ์ออมทรัพย์ ที่อาจได้รับผลกระทบจากการลงทุนในหุ้น โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผลประโยชน์ของนักลงทุนรายย่อยและสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ลงทุนในหุ้นสามัญและหุ้นกู้ของบริษัทฯ
“ตัวอย่างของสายการบินต่างชาติประสบปัญหาเช่นเดียวกันเช่น สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ และอเมริกันแอร์ไลน์ ก็จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ ใช้ระยะเวลา 14 เดือน ส่วนอเมริกันแอร์ไลน์ใช้ระยะเวลา 3 ปี แม้ว่าไม่อาจเปรียบเทียบกับการบินไทยได้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด เนื่องจากไม่ได้มีเหตุการณ์การระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เหมือนการบินไทย “นายศักดิ์สยาม กล่าว
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การดำเนินแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากสถานะการเงินของการบินไทย ณ สิ้นปี 2562 มีหนี้สิ้นที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวนทั้งสิ้น 147,352 ล้านบาท โดยหนี้สินจำนวนดังกล่าวนั้น การบินไทยคาดการณ์ว่า การดำเนินการของการบินไทยที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะทำให้การดำเนินการในปี 2563 มีภาระหนี้สินมากกว่า 200,000 ล้านบาท จึงทำให้ฐานะทางการเงินของการบินไทยอยู่ในขั้นวิกฤติ และจากข้อมูลดังกล่าว กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง จึงต้องร่วมกันพิจารณา
โดยในเบื้องต้นทางกระทรวงการคลังได้พิจารณาในการช่วยเหลือการบินไทยในการเพิ่มสภาพคล่องโดยการค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมเห็นด้วยกับการดำเนินการช่วยเหลือดังกล่าว แต่การบินไทยจะต้องจัดทำแผนฟื้นฟูฯที่เป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เสนอเข้ามาเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งพบว่า แผนที่การบินไทยเสนอว่ามีความเสี่ยงอยู่ถึง 23 เรื่อง จึงพิจาณาว่าหากเห็นชอบแผนดังกล่าว การบินไทยก็ไม่สามารถดำเนินการตามปฏิบัติตามแผนได้ และจะทำให้รัฐต้องสูญเสียเงินจำนวน 50,000 กว่าล้านบาทไปอีก รวมถึงจะทำให้เกิดความเสียหายในเรื่องของการฟื้นฟูการบินไทย และเสียหายต่องบประมาณของทางราชการ โดยกระบวนการหลังจากนี้ การบินไทยจะต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและเสนอตัวเป็นผู้ทำแผนต่อศาล ซึ่งจะทำให้การบินไทยจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 90/12 อยู่ในสภาวะพักชำระหนี้ทำให้หยุดหนี้สินที่เพิ่มขึ้นในเรื่องดอกเบี้ย
ขณะเดียวกัน จะต้องมีการตั้งคณะทำงานเจรจากับเจ้าหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอชื่อคณะทำงานผู้จัดทำแผนฟื้นฟูจำนวน 15 คน ให้แก่ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า หากอนุมัติจะดำเนินตามกระบวนการได้ทันที ทั้งนี้ ยืนยันว่าระยะเวลาการจัดทำแผนจะเสร็จสิ้นภายเดือน มิ.ย. 2563 และถ้าหากไม่มีสถานการณ์โควิด-19 คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการฟื้นฟูให้กลับมาแข็งแกร่งภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี จากนั้นหากศาลอนุมัติแผนฟื้นฟูฯ คณะทำงานจะเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อให้เห็นโอกาสในการฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งถ้าเจ้าหนี้เห็นด้วยก็จะดำเนินการต่อไปได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เนื่องจากหากปล่อยให้การบินไทยล้มละลายก็จะไม่เป็นผลดีต่อการบินไทย เพราะจะถูกพิทักษ์ทรัพย์ ไม่สามารถทำการบินได้ ประกอบกิจการไม่ได้ ทำให้ทรัพย์สินถูกอายัดขายทอดตลาด พนักงานตกงานและถูกลอยแพ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้