‘คมนาคม’ วอนรัฐ-เอกชน กำหนดมาตรการ ‘ทำงานที่บ้าน’ ลดการเดินทาง ปชช. พร้อมเข้ม Social Distancing ป้องกัน ‘โควิด-19’

“คมนาคม” ขอความร่วมมือหน่วยงานรัฐ-เอกชน เข้มปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing ในการเดินทาง พร้อมวอนกำหนดมาตรการทำงานที่บ้าน-เดินทางเท่าที่จำเป็น-สลับ/เหลื่อมเวลาการทำงาน หวังลดความแออัดการเดินทางขนส่งสาธารณะทุกระบบ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 โดยมีมาตรการที่เข้มงวดขอให้ประชาชนอยู่ในเคหสถาน เดินทางเท่าที่จำเป็น และเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ตลอดจนการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ และกระทรวงคมนาคมได้กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายดังกล่าว เช่น การคัดกรองผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการในระบบรถสาธารณะ การกำหนดให้ต้องสวมหน้ากากตลอดระยะเวลาการเดินทางในทุกระบบ รวมถึงการจัดเจลแอลกอฮอล์ เพื่อบริการประชาชน เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อภายในสถานีและยานพาหนะ ที่สำคัญ คือ การกำหนดที่นั่ง ที่ยืน การเข้าแถวคอยรับบริการ ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้บริการ และประชาชน จนเป็นผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมากในขณะนี้

ทั้งนี้ จึงขอความร่วมมือหน่วยงานทุกภาคส่วนในการให้ความร่วมมือปฏิบัติงานที่บ้าน (Work from Home) เพิ่มมากขึ้น และกำหนดให้มีการสลับ/เหลื่อมเวลา การทำงาน และมีการเดินทางเท่าที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เพื่อให้สอดคล้องตามการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จนถึง 31 พ.ค. 2563 พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งสาธารณะทุกระบบ ทั้ง ทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ จัดเจ้าหน้าที่บริหารจัดการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ภายในอาคารสถานี ชานชาลา และภายในยานพาหนะอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันการกลับมาระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างรุนแรงภายในประเทศอีก

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาภาพรวมของปริมาณผู้โดยสารที่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะทุกระบบตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่มีนาคมจนถึงปัจจุบัน มีสัดส่วนที่ลดลงประมาณ 70-80% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้สามารถดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมได้ โดยการเว้นที่นั่งและที่ยืนในการโดยสาร 1-2 เมตร โดยเมื่อมีการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้มีการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นปัญหาในการจัดการให้บริการให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อโควิด-19 ของผู้โดยสารในบางระบบการเดินทาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการปฏิบัติมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เช่น การสลับ/เหลื่อมเวลาทำงาน การ Work From Home ควบคู่กับความร่วมมือร่วมใจของประชาชนผู้เดินทางในการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม วางแผนและเผื่อเวลาในการเดินทาง เป็นต้น เพื่อให้สามารถกระจายความหนาแน่นแออัดในการเดินทางช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น เพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ได้โดยเร็วที่สุด