สถาปัตยกรรมไทย จุดพลุสถาปัตย์แห่งเอเชีย ผ่านเวทีประชุมวิชาการ ครั้งที่ 6

แวดวงสถาปัตยกรรมไทยเลื่องชื่อ โชว์ศักยภาพอาคารประชุมให้เป็นโมเดิร์นแห่งเอเชีย พร้อมจัดทัพนักวิชาการประชุมเข้ม 3 วันที่กรุงเทพฯ เพื่อเดินหน้าพัฒนาวงการสถาปัตยกรรมเอเชียทั้งพัฒนา รักษา และอนุรักษ์

งานสัมมนาวิขาการนานาชาติครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “The Future of the Past : Materiality and Resilicence of Modern Architecture in South East Asia” จัดขึ้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 25-27 ต.ค.61 โดยมีสมาคมอิโคโมสไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเจ้าภาพร่วม ทางผู้จัดได้เชิญนักวิชาการและวิชาชีพสาขาการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น จากทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนมาร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการวิชาชีพ และแลกเปลี่ยนแนวความคิดในการพัฒนาเชิงอนุรักษ์เพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์อะนา โตสโต ประธานโดโคโมโม่ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส  (Prof. Ana Tostoes ประธาน Docomomo International พร้อมกับมิสเตอร์เจฟฟ์ โคดี้  จากเกตต์ตี้ คอนเวอร์เซชั่น อินสทิทิวท์ และ ศาสตราจารย์ไอว่าโมโต ไคชิ  (Mr. Jeff Cody จาก Getty Conservation Institute และ Prof. Iwamoto Keiichi) มาแสดงปาฐกถาพิเศษร่วมกับ ผศ.ดร.ยวธนิศร์ พิมลเสถียร จากประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 25-26 ต.ค.61

สำหรับวันแรกของการจัดสัมมนาดังกล่าว ทางเจ้าภาพคือสมาคมอิโคโมสไทยได้ เลือกสถานที่อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือตึกเคมีเดิม ซึ่งเป็นอาคารยุคโมเดิร์นที่ได้มีการใช้สอยต่อเนื่องกันมายาวนานร่วม 70 ปี และสำหรับวันที่ จัดที่อาคารศูนย์เรียนรู้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมเป็นอาคารโรงพิมพ์ธนบัตร และถูกปรับเปลี่ยนการใช้สอยมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และห้องประชุมสัมมนาครบวงจร นับเป็นโครงการล่าสุดที่ประเทศไทยมีความภูมิใจในการนำเสนอการอนุรักษ์มรดกยุคโมเดิร์นของชาติให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมโลก

ส่วนในวันที่ 27 ต.ค. ทางเจ้าภาพมีการนำผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นสถาปนิกจากทั่วภูมิภาคเอเซีย นำชมสถานที่ที่เป็นมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่น่าสนใจในกรุงเทพฯ ที่หาโอกาสเข้าไปชมได้ยากคือ ที่โรงงานรถไฟ มักกะสัน ซึ่งนับเป็นมรดกทางอุตสาหกรรมที่สำคัญที่ควรอนุรักษ์ไว้และควรหาวิธีนำมาใช้สอยในอนาคตอย่างเหมาะสม ในฐานะมรดกของชาติที่แสดงถึงประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองของการรถไฟไทยที่เคยยิ่งใหญ่ในภูมิภาคนี้ และอาคารหลายหลังในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะตึกกลมที่ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิก อมร ศรีวงศ์ ผู้มีความสามารถโดดเด่นออกแบบสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่ทรงคุณค่าหลายหลังทั่วในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

ส่วนหัวข้อที่นักวิชาการและวิชาชีพนำเสนอในการประชุมครั้งนี้มีเกี่ยวกับเรื่อง การถ่ายทอดเทคโนโลยีอาคารและการใช้วัสดุก่อสร้างในยุคโมเดิร์น ตลอดไปจนถึงการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น ซึ่งผู้นำเสนอผลงานทางวิชาการ และวิชาชีพ ได้รับเชิญจากทุกประเทศในอาเซียน รวมทั้งเป็นเวทีแสดงผลงานของนักวิชาการไทยอีกหลายท่านด้วยกัน งานสัมมนาดังกล่าว เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ mASEANa 2015-2020 ซึ่งได้ริเริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2558 โดยมีเป้าหมายที่จะอนุรักษ์และส่งเสริมการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในกลุ่มประเทศอาเซียน

โครงการนี้จัดขึ้นโดยองค์กร Docomomo Japan และ Japan Foundation และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรแม่ระดับสากล คือ Docomomo International ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์และรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์น และมีเครือข่ายอยู่ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม mAAN (Modern ASEAN Architecture Network) และคณะทำงานมรดกสถาปัตยกรรมศตวรรษที่ 20 ขององค์กร ICOMOS Internationalเป็นผู้สนับสนุน และตั้งแต่ปี 2558 ได้มีการจัดงานสัมมนาวิชาการสลับกับการสัมมนาเชิงปฏิบัติการไปแล้วในหลายประเทศเริ่มจากโตเกียว ฮานอย ย่างกุ้ง จาการ์ต้า และพนมเปญ มาในปีนี้เป็นการจัดในประเทศไทย

นอกจากนี้ โครงการ mASEANa ยังมีเป้าประสงค์ที่จะรวมตัวนักวิชาการวิชาชีพสถาปัตยกรรม เพื่อมาหารือกันในการร่วมกันเขียนประวัติศาสตร์ของมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยังไม่มีใครเคยทำมาก่อน เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าแห่งมรดกสถาปัตยกรรมยุคนี้ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของมรดกวัฒนธรรมของแต่ละชาติ รวมถึงการประหยัดทรัพยากรของโลกโดยการไม่รื้อสร้างใหม่ แต่เป็นการนำเอาของเดิมกลับมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอย และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกยุคใหม่

งานนี้สำเร็จงอย่างราบรื่น โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำ อาทิ  Toyota Foundation, Thai Obayashi, Kokuyo International, Nomura Real Estate Developmentและ On Ground Co., Ltd. และธนาคารแห่งประเทศไทยในการเอื้อเฟื้อสถานที่