เรือ LNG กฟผ.ลำที่ 2เทียบท่าแล้ว!!

กฟผ. นำเข้า LNG แบบ Spot ลำเรือที่ 2 ปริมาณ 65,000 ตัน เพื่อทดสอบระบบการแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติ พร้อมนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. คาดทั้ง 2 ลำเรือช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง Ft 0.42 สตางค์ต่อหน่วย หรือ คิดเป็นมูลค่าร่วม 500 ล้านบาท มากกว่าที่คาดการณ์

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2563 กฟผ. นำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas : LNG) แบบตลาดจร (Spot) จำนวน 65,000 ตัน ลำเรือที่ 2 จาก บริษัท PETRONAS LNG โดยเรือ Seri Angkasa ได้เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด (PTT LNG) อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่ง LNG ล็อตนี้ กฟผ. จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าผ่านสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติของ PTT LNG และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ปตท. (PTT TSO) ส่งไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ชุดที่ 5, โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 และ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ ชุดที่ 4 โดยมีระยะเวลาการใช้ LNG ประมาณ 13 วัน คือระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 4 พฤษภาคม 2563 เพื่อผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของประเทศ และเมื่อใช้ก๊าซ LNG ล็อตนี้แล้วเสร็จ กฟผ. จะรายงานผล การทดสอบ “การเปิดให้บุคคลที่สามเข้าใช้หรือเชื่อมต่อระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและสถานี LNG หรือ Third Party Access (TPA)” ไปยัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต่อไป โดยคาดว่าการจัดหา LNG ของ กฟผ. ทั้ง 2 ลำเรือ จะส่งผลให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิง (Ft) ลดลงจากเดิมที่เคยประมาณการไว้เมื่อปลายปี 2562 ที่ 0.21 สตางค์/หน่วย เป็นลดลง 0.42 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท

สำหรับแผนการจัดหา LNG กฟผ. ระยะเวลา 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2563 – 2565) เป็นการนำเข้า LNG แบบ Spot ตามปริมาณความต้องการก๊าซธรรมชาติของ กฟผ. ในส่วนที่เกินจากปริมาณตามข้อผูกพันในสัญญา ซื้อขายก๊าซฯ ระหว่าง ปตท. และ กฟผ. ซึ่งการนำเข้า LNG ดังกล่าวยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายภาครัฐที่เร่งให้นำเข้า LNG ในช่วงที่สถานการณ์ LNG ในตลาดโลกมีปริมาณมากกว่าความต้องการ (Over Supply) และมีราคาถูก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า และเกิดการแข่งขันเสรีในธุรกิจนำเข้า LNG ในอนาคต ทั้งนี้ แผนนำเข้าดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ กฟผ. แล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2563 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่าง การพิจารณาของกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

นายธวัชชัย จักรไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 การดำเนินการทดสอบนำเข้า LNG ดังกล่าว กฟผ. และบริษัทที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย PTT LNG, PTT TSO, PETRONAS LNG และบริษัท Intertek Testing Services (Thailand) ซึ่งเป็น Surveyor ของ กฟผ. จะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยยึดถือข้อกำหนดของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และ มาตรฐานของสถานี PTT LNG ซึ่งต้องปฏิบัติในทุกขั้นตอนการนำเข้า ตั้งแต่การนำส่ง LNG จาก บริษัท PETRONAS LNG ท่าเรือ Bintulu ประเทศมาเลเซีย เข้าสู่เรือ จนถึงการตรวจรับ LNG ของ กฟผ. โดยการประสานงาน ประชุม และตรวจสอบเอกสาร ใช้การประชุมทางไกลระบบวีดีโอ (VDO Conference) และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) เพื่อลดการพบปะของบุคคลจำนวนมากตามนโยบายของรัฐบาล