‘ถาวร’ บุกบินไทยฯ ถกร่วม ‘ปธ.บอร์ด-ดีดี’ หาแนวทางแก้ไขปัญหาช่วงวิกกฤติ ‘โควิด-19’

“ถาวร” บุกตรวจเยี่ยม “การบินไทย” ถกร่วม “ประธานบอร์ด-ดีดี” หาแนวทางแก้ไขปัญหาช่วงวิกกฤติ “โควิด-19” สั่งเร่งสปีดแผนฟื้นฟูฯ แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมแนะตั้งศูนย์ปฏิบัติการ-บริษัทลูก มุ่งเน้นสร้างรายได้

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วันนี้ (27 มี.ค. 2563) ว่า จากการหารือร่วมกับ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทย และนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบินไทย ในสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้ การบินไทย ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติโควิด-19 ทั้งที่แต่เดิมก็ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมนับแสนล้านบาทอยู่แล้ว ซึ่งการร่วมมือจากทุกฝ่าย จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยตนในฐานะรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่กำกับ ดูแล มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 

สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบินไทยนั้น สรุปได้ดังนี้ 1.การรักษาสภาพกระแสเงินสด (Cash flow) เนื่องจากขณะนี้การบินไทยไม่มีรายได้จากการบินในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากมาตรการปิดน่านฟ้า เพื่อระงับการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ต้องหาแนวทาง เพื่อรักษาสภาพกระแสเงินสด ได้แก่ ต้องปรับวิธีการหารายได้จากทางอื่น เช่นการรับส่งสินค้าทางอากาศ (Cargo) และครัวการบินไทยให้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน (Delivery) นอกจากนี้ จะต้องมีการปรับลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดค่าใช้จ่ายจากพนักงานโดยการปรับลดเงินเดือน การหยุดจ่ายค่าล่วงเวลา หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สามารถปรับลดได้ ซึ่งขณะนี้สามารถปรับลดได้ไม่น้อยกว่า 30% รวมถึงเจรจาขอผัดผ่อนการจ่ายเงินให้กับลิสซิ่ง ซึ่งขณะนี้สามารถเจรจาผัดผ่อนเวลาได้ประมาณ 3-5 เดือน

เร่งแผนฟื้นฟูฯ แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์

2.การจัดทำแผนฟื้นฟูฯ จะเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อจะได้เสนอกระทรวงการคลัง และเสนอตามขั้นตอนจนถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป 3.การปรับลดขนาดองค์กร โดยการปรับลดจำนวนของพนักงานให้น้อยลง เน้นวิธีการปรับลดโดยความสมัครใจ 4.การปรับลดประเภทของเครื่องบิน ลดจำนวนช่างซ่อมบำรุง ลดการสต๊อกอะไหล่เครื่องบิน เพื่อให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น 5.การปรับลดกระบวนการและขั้นตอนการทำงานภายในองค์กร เนื่องจากองค์กรเป็นรูปแบบรัฐวิสาหกิจ มีหลักเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ทำให้มีความล่าช้าในการบริหารจัดการ จึงจำเป็นจะต้องปรับแก้เพื่อให้สามารถทำงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

6.ปรับกระบวนการด้านรายได้จากการจำหน่ายตั๋วโดยสาร และบริหารด้านการตลาดในเชิงรุกให้มีผู้โดยสารมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงปรับลดการจำหน่ายตั๋วโดยสารโดยเอเจนซี่ (Agency) ซึ่งมีการล็อคราคาตั๋วโดยสาร ทำให้การบินไทยไม่สามารถปรับราคาค่าตั๋วโดยสารให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ โดยแก้รูปแบบให้การบินไทยจำหน่ายตั๋วให้แก่ผู้โดยสารโดยตรงผ่านช่องทางต่างๆ เช่นระบบบุ๊คกิ้ง ระบบออนไลน์ ให้มากขึ้น อีกทั้งมาตรการค่าปรับเอเจนซี่ ในกรณีคืนตั๋วโดยสารไม่ทันภายในกำหนดเวลา 7.การจัดหารายได้เพิ่มในช่องทางการให้บริการจองที่พัก และการให้บริการจองทัวร์ของนักท่องเที่ยว และ 8.การลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้เรียกกลับประเทศให้หมดภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้

นายถาวร กล่าวต่ออีกว่า นอกเหนือจากแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบินไทยนั้น ตนยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมไว้หลายประเด็น เช่น การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ TOCC (THAI Operations Control Centre) ให้เป็นหน่วยงานในโครงสร้างขององค์กร รวมถึงศึกษาแนวทางในการจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อดำเนินการในส่วนของอาหาร หรือส่วนอื่นๆ เพื่อให้สามารถหารายได้ และการบริหารจัดการที่มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งการหารายได้เพิ่มจากฝ่ายช่าง เช่น การเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาให้แก่เครื่องบินทั่วไป เป็นต้น

ขณะเดียวกัน การหารายได้เพิ่มเติมจากฝ่ายวางแผนการบิน เพื่อให้เครื่องบินประหยัดน้ำมัน ประหยัดเวลาในการบิน ซึ่งทางศูนย์ TOCC มีความสามารถในการวางแผนได้เป็นอย่างดี รวมถึงการบริหารจัดการสินทรัพย์ของการบินไทย ที่แต่เดิมมีอยู่ร่วม 200,000 ล้าน แต่ในปัจจุบันนี้คงเหลือแค่ 100,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งผู้บริหารการบินไทยต้องอธิบายให้ชัดแจ้ง และการขอลดค่าใช้จ่ายในการ จอดเครื่องบินในระยะยาว (Aircraft long Term Parking) ซึ่งการตั้งคณะกรรมการต้องทำในรูปแบบการกำหนดตัวบุคคลมาทำหน้าที่ และต้องจัดหาบุคคลที่มีความจริงจังในการทำหน้าที่

ในส่วนของการคำนวณกำไรขาดทุน จะต้องคำนวณในทุกเส้นทางการบิน และต้องคำนวณเป็นรายเที่ยว รายเดือน และรายไตรมาส เพื่อให้ทราบถึงผลประกอบการในแต่ละเส้นทางการบินที่ชัดเจน จะได้นำมาวิเคราะห์แผนในการดำเนินการทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เรื่องของความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณและความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ถือเป็นอีกเรื่องที่ตนให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาข้อมูลในเชิงลึก และหากมีข้อมูลใดๆ ที่ส่อว่ามีการทุจริต ตนจะดำเนินการตามกระบวนการจนถึงที่สุดต่อไป