ความเสี่ยงกับโซ่อุปทานCOVID-19:การปรับตัวของบริษัท

ความเสี่ยงกับโซ่อุปทาน COVID-19: การปรับตัวของบริษัท

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล ผอ.หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการด้านโลจิสติกส์(สหสาขาวิชา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในสถานการณ์ในปัจจุบัน ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้มีการแพร่กระจายเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลวันที่ 19 มีนาคม พบว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อถึงกว่า 210,000 ราย มีคนเสียชีวิตมากกว่า 8,700 ราย ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และมีผู้ติดเชื้อตามรายงานอยู่ที่ 212 ราย ในการดำเนินธุรกิจภายใต้สภาวการณ์นี้นับว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายกับผู้บริหารเป็นอย่างมาก จากรายงานการพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนแรกในต้นเดือนธันวาคม 2562 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทยอยู่ที่กว่า 1,500 จุด ในปัจจุบันดัขนีเหลืออยู่เพียงประมาณ 1,000 จุด ในขณะที่ดัขนี Dow Jones อยู่ที่เกือบ 30,000 จุด ในปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 21,000 จุด จะเห็นได้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ลดลงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในการดำเนินชีวิตของประชาชนพบว่าก็เกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะเป็นสินค้าจำเป็นเช่นหน้ากากอนามัยมีราคาเพิ่มขึ้น หรือปรากฎการณ์ที่มีประชาชนเข้าไปซื้อสินค้าในตลาดหรือร้านค้าปลีกเป็นจำนวนมาทำให้ปริมาณสินค้าในร้านค้าปลีกลดน้อยลงหรือแม้กระทั่งบางจุดไม่มีสินค้าเลย

ผู้บริหารกิจการต่างๆ จึงความจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจของตนเอง ความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโซ่อุปทานมีที่มาจากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ความเสี่ยงด้านซัพพลาย ความเสี่ยงในกระบวนการโลจิสติกส์ ความเสี่ยงด้านลูกค้าและความเสี่ยงจากภายนอก ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจและปรับตัวในสถานการณ์ต่างๆ ให้ได้เพื่อที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป ความเสี่ยงด้านแรกคือความเสี่ยงด้านซัพพลายเป็นความเสี่ยงที่วัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตอาจจะขาดแคลนในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตนี้อาจจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้ามีเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงด้านต่อมาคือความเสี่ยงในกระบวนการโลจิสติกส์ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในเส้นทางการขนส่งไม่สามารถส่งได้เนื่องจากนโยบายที่จะกักบริเวณเพื่อลดการเคลื่อนย้ายต่างๆ หรือการเก็บสินค้าคลังมีปัญหาสินค้าเน่าเสียหรือเสียหายได้ ความเสี่ยงในประเด็นถัดไปในด้านลูกค้า ในสถานการณ์นี้จะเห็นได้ว่าผู้บริโภคมีความตระหนักถึงการแพร่ระบายของไวรัส COVID-19 ทำให้เกิดความตื่นตัวและมีการกักตุนสินค้าบางประเภท ความเสี่ยงนี้ทำให้ความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาสินค้าก็เพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงสุดท้ายอาจจะเกิดจากความเสี่ยงภายนอก ไม่ว่าจะเป็นนโยบายชองภาครัฐที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นการลดการเดินทางของประชาชนหรือกิจกรรมที่จะต้องมีการเคลื่อนย้ายประชาชนที่มีจำนวนมากๆ ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจการขนส่งอย่างมาก

จากสาเหตุความเสี่ยงที่ได้กล่าวมานั้น จำเป็นต้องมีการจัดการความเสี่ยงให้ถูกต้องโดยอาจจะมีการมุ่งเน้นการปรับตัวในเรื่องต่างๆ เช่นการให้ความสำคัญกับสินค้าบางกลุ่มเช่นสินค้าด้านการแพทย์หรือด้านสุขภาพ การมีสินค้าทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์หรือแม้กระทั่งหน้ากากอนามัยนับเป็นเรื่องที่สำคัญมากในปัจจุบัน ถ้าประชาชนขาดแคลนสินค้าเหล่านี้จะส่งต่อความสูญเสียมหาศาล บางประเทศได้มีนโยบายให้มีการเพิ่มความสามารถในการผลิตสินค้าทางการแพทย์เช่นบริษัท Sharp ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่จะมีการปรับสายการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ามาผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อรองรับความต้องการที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น โดยมีการวางแผนว่าจะผลิตให้ได้วันละ 150,000 ชิ้นในช่วงแรกและอาจจะเพิ่มได้ถึง 500,000 ชิ้น หรือบริษัทผู้ผลิตสินค้าสุขภาพ Unicharm ซึ่งสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้สัปดาห์ละ 20 ล้านชิ้นจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 100 ล้านชิ้น

สำหรับบางธุรกิจอาจจะมีความจำเป็นต้องปรับกำลังการผลิตลงเนื่องจากความต้องการของลูกค้าลดลง ผู้บริหารอาจจะจำเป็นต้องลดเวลาการทำงานของพนักงานในสายการผลิต เพื่อให้พนักงานทุกคนยังมีงานทำแต่อาจจะได้รับเงินเดือนน้อยลง รอเวลาที่จะกลับมาทำงานเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นซึ่งอาจจะเป็นวิธีการที่ดีกว่าจะให้พนักงานออกไปในช่วงเวลาวิกฤตและอาจจะหาพนักงานเข้ามาใหม่ได้ยาก หรืออาจจะต้องมีการปรับตัวให้รวดเร็วให้เข้ากับสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการหาซัพพลายเออร์มาทดแทน เช่นสถานการณ์ในปัจจุบันซัพพลายเออร์ของโรงงานบางกลุ่มอยู่ในประเทศจีน ทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบเป็นอย่างมาก ผู้บริหารจำเป็นหาซัพพลายเออร์มาสำรองโดยอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งต้องพิจารณาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกับรายได้จากการขายสินค้านั้นๆ หรืออาจจะต้องมีการทำประกันราคาเพื่อป้องกันการขาดตลาดของวัตถุดิบ ซึ่งวิธีดังกล่าวก็จะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่จะต้องเพิ่มขึ้น เพียงแต่เป็นการลดความเสี่ยง (Risk Mitigation) ที่อาจจะเกิดขึ้นในการดำเนินงาน

จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ หลายๆ องค์กรคงจะต้องมีแนวคิดในการทำแผนความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Plan) เพื่อรองรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดคิด ทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องการจะใช้ในสถานการณ์แบบนี้เช่นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นหรือจำนวนพนักงานขั้นต่ำที่ต้องมีเพื่อให้กระบวนการดำเนินงานไปได้ นอกจากกนี้ยังต้องคำนึงถึงแผนที่จะต้องดำเนินงานในกรณีที่เหตุการณ์กลับมาปกติ ทรัพยากรต่างๆ ที่ต้องการจะใช้จะฟื้นฟูกิจการ ซึ่งแผนดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างไม่มีรอยต่อ อย่างไรก็ตามผมก็คาดหวังว่าทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศไทยของเราจะกลับมาสู่สภาพปกติได้อย่างเร็วที่สุด เราจะก้าวไปด้วยกันครับ