‘ศักดิ์สยาม’ สั่งทุกสนามบินทั่วไทย เข้มมาตรการป้องกัน ‘โควิด-19’ รับมือ ‘ผีน้อย’ พร้อมอาสาส่งกลับภูมิลำเนา ด้าน กพท. เร่งถก สธ. หาแนวทางรับ ผดส. ถูกปฏิเสธเข้าประเทศ

“ศักดิ์สยาม” สั่งทุกสนามบินทั่วไทย เข้มมาตรการรับมือ “ผีน้อย” เสี่ยง “โควิด-19” ใช้รูปแบบเดียวกับเที่ยวบินจากอู่ฮั่น แยกผู้โดยสารชัดเจน ด้าน “คมนาคม” อาสาเป็นตัวกลางจัดส่งกลับภูมิลำเนา ก่อนส่งไม้ต่อปกครองส่วนท้องถิ่นควบคุม-ดูแลต่อไป เตรียมรายงาน “บิ๊กตู่” พรุ่งนี้ ฟากหน่วยงานการบินเล็งยกระดับคัดกรองฯ ถกร่วม กพท. ยกระดับ-ใช้สนามบินเฉพาะ จ่อหารือ สธ. รับมือผู้โดยสารถูกปฏิเสธเข้าประเทศกลุ่มเสี่ยง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกลุ่มแรงงานไทยที่พำนักเกินวีซ่าในประเทศเกาหลีใต้ (ผีน้อย) เดินทางกลับประเทศไทย เนื่องจากมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นั้น ในเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และสนามบินภูมิภาคทั่วประเทศ 28 แห่ง ภายใต้การกำกับดูแลของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ให้เข้มงวดในมาตรการต่างๆ พร้อมยกระดับการคัดกรองผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกสนามบิน

ทั้งนี้ ในส่วนของแรงงานที่พำนักเกินวีซ่าเดินทางกลับจากประเทศเกาหลีใต้นั้น ทางรัฐบาลไทยจะใช้มาตรฐานการคัดกรองเช่นเดียวกับกรณีเที่ยวบินที่มาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยมีการแยกประเภทผู้โดยสารอย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อคัดกรองแล้ว หากพบว่าผู้โดยสารคนใดมีไข้สูง และสุ่มเสี่ยง จะถูกส่งไปที่สถาบันบำราศนราดูร เพื่อทำการรักษาทันที ส่วนผู้โดยสารคนใดไม่มีอาการนั้น ทางภาครัฐโดยกระทรวงคมนาคมจะเป็นตัวกลางในการจัดส่งผู้โดยสารคนดังกล่าว กลับไปยังภูมิลำเนาของแต่ละคนที่อาศัยอยู่ เพื่อกักตัวตามมาตรฐาน ซึ่งขั้นตอนต่อไปนั้น จะให้เจ้าหน้าที่ปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ควบคุมและดูแลต่อไป อย่างไรก็ตาม มาตรการที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการต่างๆ นั้น ในวันพรุ่งนี้ (4 มี.ค. 2563) จะรายงานให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรับทราบด้วย

ขณะเดียวกัน ในขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการประสานงานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่ประจำอยู่ทุกสนามบินจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน หรือ Emergency Operation Center (EOC) แล้ว รวมทั้งมีการประชุมในทุกวัน เวลา 10.00 น. เพื่อให้มีการประสานงานระหว่างกัน รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในหลายๆ หน่วยงาน อาทิ ตม., ด่านควบคุมโรคฯ โดยให้ใช้ประโยชน์จากระบบการคัดกรองผู้โดยสาร ที่มีการส่งรายชื่อการเดินทางผู้โดยสารจากต้นทางมายัง (APPS) เพื่อจะทำให้คัดกรองได้ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ในแต่ละวัน

*** “สุวรรณภูมิ” ถก กพท. จัดสนามบินเฉพาะคัดกรอง ***

ด้านนาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เพื่อขอความเห็นสำหรับมาตรการยกระดับการคัดกรองผู้โดยสารจากประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งความเข้มข้นของมาตรการคัดกรองนั้น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเห็นว่า หลังจากนี้สามารถยกระดับให้เที่ยวบินที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง สามารถจัดให้เที่ยวบินเหล่านี้ลงจอดในท่าอากาศยานขนาดเล็ก หรือท่าอากาศยานทหาร เช่น ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา เป็นต้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในมาตรการคัดกรอง

ทั้งนี้ เที่ยวบินใดที่มีรายงานผู้โดยสารพบอาการผิดปกติ อาทิ มีไข้ และต้องทำการเฝ้าระวังนั้น ก็จะแยกไปทำการตรวจสอบ หรือเข้าสู่กระบวนการเฝ้าระวัง  โดยสามารถยกระดับมาตรการสูงสุดเหมือนกับการจัดการเที่ยวบินที่เคยกลับจากอู่ฮั่น อย่างไรก็ตาม ที่สำคัญสุด คือ การแยกท่าอากาศยาน ก็จะช่วยให้ไม่เกิดการปะปนของผู้โดยสารในพื้นที่อาคารผู้โดยสาร ซึ่งทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

“ความจำเป็นในการจัดท่าอากาศยานเฉพาะเพื่อรองรับเที่ยวบินกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงนี้  สามารถนำมาใช้รองรับการเดินทางกลับของแรงงานไทย ที่ลักลอบเข้าเมือง (ผีน้อย) มีการแจ้งความประสงค์ที่จะขอเดินทางกลับประเทศกับทางการเกาหลีใต้กว่า 5,000 คนแล้ว” นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ กล่าว

*** กพท. จ่อหารือ สธ. รับมือผู้โดยสารถูกปฏิเสธเข้าประเทศ ***

นาวาอากาศโทสุธีรวัฒน์ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาการเดินทาง ที่มีการเชื่อมต่อเส้นทาง หรือเปลี่ยนเครื่อง โดยเที่ยวบินมีการจอดแวะในประเทศไทย (Transfer Flights) และเป็นเที่ยวบินที่ออกเดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จะทำการเดินทางไปยังประเทศปลายทาง แต่ถูกประเทศปลายทางปฏิเสธการให้เข้าประเทศนั้น ในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพราะหากไม่สามารถเดินทางต่อไปยังประเทศปลายทางได้ ก็จะเกิดภาระทางด้านสาธารณสุขกับประเทศไทย ที่ต้องทำการเตรียมพื้นที่รองรับ และทำการกักตัว 14 วันรอผลการวินิจฉัยโรค ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ได้มีการหารือในประเด็นดังกล่าว กับ กพท.ไปแล้วเช่นกัน

ขณะที่ นายจุฬา สุขมานพ ผอ. กพท. กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการ Transfer Flights นี้ หากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ปัญหาโดยการไม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเที่ยวบินที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และมาทำการเปลี่ยนเครื่องที่ไทย ในส่วนนี้จะต้องใช้ประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อทำการอ้างอิง หลังจากนั้น กพท.จะดำเนินการแจ้งให้สายการบินทราบ ว่าจะไม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเที่ยวบินลักษณะดังกล่าว  ซึ่งสายการบินจะได้นำไปเป็นแนวปฏิบัติในการให้บริการต่อไป โดยประเด็นดังกล่าว กพท. อยู่ระหว่างการนัดหมาย เพื่อหารือกับกระทรวงสาธารณสุขโดยด่วน ก่อนที่จะกำหนดรายละเอียดของมาตรการต่อไป