‘ทางหลวงฯ’ แจงสร้างมอเตอร์เวย์ยกระดับ ช่วง ‘ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ’ ไม่เกี่ยวข้องกับแผน ทอท.สร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ

“กรมทางหลวง” แจงสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับ ช่วง “ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ” ไม่เกี่ยวข้องกับแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ยันอยู่ในแผนงานตั้งแต่ปี 57 พร้อมเชื่อมการเดินทางสู่ EEC

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับ ช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7) มีเหตุผลความจําเป็นในการก่อสร้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แต่อย่างใด ตามที่หลายฝ่ายได้มีการตั้งข้อสังเกต

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นแผนงานของกรมทางหลวงตั้งแต่ปี 2557 และวางแผนที่จะดําเนินการอยู่แล้ว เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรหนาแน่น เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณจราจรช่วงทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกว่า 200,000 คันต่อวัน และในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่ในสภาพใกล้เต็มความจุของถนน โดยผลการสํารวจพบว่า 75% ของผู้ใช้ทางเป็นการเดินทางระยะไกลมุ่งหน้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกซึ่งเป็นสาเหตุหลักของ ปัญหาจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ไม่ได้เกิดจากปริมาณรถเข้า-ออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งมีสัดส่วนเพียง 25% เท่านั้น

“ไม่เป็นความจริงที่การก่อสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสาเหตุ ที่ทําให้เกิดปัญหารถติดบนมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ จนทําให้กรมทางหลวง ต้องลงทุนสร้างโครงการทางยกระดับในแนวเส้นนั้น แต่กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสุวรรณภูมิของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อมาในปี 2552 ได้สรุปผลการศึกษาความเหมาะสมว่าควรสร้างเป็นทางยกระดับคร่อมอยู่บนแนวมอเตอร์เวย์ ในปัจจุบัน และต่อมาในปี 2557 กรมทางหลวงได้นําแนวคิดดังกล่าวมาวิเคราะห์ทบทวนและวางแผน ดําเนินการ” นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวต่ออีกว่า การพัฒนาโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของกรมทางหลวง มีลักษณะเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร คร่อมอยู่บนแนวทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ เชื่อมต่อโครงข่ายกับทางพิเศษสายศรีรัช รวมทั้งมีทางเข้า-ออกเชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และมีจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ ลาดกระบังรวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร

สำหรับโครงการฯ ดังกล่าว จะเป็นส่วนสําคัญในการเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล ไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยปัจจุบันมีอัตราการเติบโตของปริมาณจราจร 4.2% ต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อมีการเปิดพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งรองรับปริมาณการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิให้มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และสามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางได้แน่นอน รองรับการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคาดว่าจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคนในปี 2575

นายสราวุธ กล่าวว่า ปัจจุบันมี ฝปริมาณการเดินทางโดยรถยนต์เข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 112,000 คันต่อวัน โดยเป็นการเดินจากทางทิศเหนือหรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สัดส่วน 75% และจากทางทิศใต้ 25% ดังนั้น แม้ในอนาคตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีการขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมบริเวณ ตำแหน่งใดก็ตามก็จะไม่ทําให้แนวโน้มรูปแบบการเดินทางเข้าท่าอากาศยานดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมากนัก

นอกจากนั้น การสํารวจจุดต้นทาง-ปลายทางของการเดินทาง (Origin-Destination Survey) พบว่า แนวโน้มการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิส่วนใหญ่ยังคงใช้เส้นทางคมนาคมด้านทิศเหนือ เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ สัดส่วนสูงถึง 55% โดยเฉพาะเขตกรุงเทพฯ ช้ันใน ขณะท่ีการเดินทางผ่าน ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เป็นแนวเส้นการเดินทางตรงและมีความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมากท่ีสุด