EU ถกร่วม ‘คมนาคม’ เข็นบทเรียนปัญหาเชื่อมโครงข่ายรถไฟ ประยุกต์ใช้ใน ‘อาเซียน’ หวั่นซ้ำรอยกลุ่มประเทศยุโรป เล็งจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ มิ.ย.นี้

EU ถกร่วม “คมนาคม” เข็นบทเรียนปัญหาเชื่อมโครงข่ายรถไฟ ประยุกต์ใช้ใน “อาเซียน” หวั่นซ้ำรอยกลุ่มประเทศยุโรปในอดีต หลังคาดการณ์ภายใน 20 ปีข้างหน้า โปรเจ็กต์ระบบราง “ทางคู่-ไฮสปีด” ดันเดินรถถี่มากขึ้น เล็งจัดสัมมนาอัพเดทคลื่นความถี่-แลกเปลี่ยนความรู้ มิ.ย.นี้ พ่วงตั้งคณะทำงานศึกษาฯ

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟในภูมิภาค CLMV และประเทศจีน พร้อมด้วยความร่วมมือกับสหภาพยุโรป (EU) นำโดยนายคาเรน วิงก์ ผู้ประสานงานโครงข่ายคมนาคมยุโรปว่า ในการหารือดังกล่าว EU ได้นำบทเรียนปัญหาการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟของกลุ่มประเทศในยุโรปในอดีตที่ผ่านมา หลังไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ เพื่อนำมาประยุกต์และเตรียมความพร้อมในการปรับระบบใช้คลื่นความถี่ GSM (R) ที่จะใช้เฉพาะกับรถไฟเท่านั้น ของประเทศในภูมิภาค CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม

พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในอีกไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า กลุ่มประเทศ CLMV จะมีโครงการรถไฟต่างๆ อาทิ รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในขณะนี้แต่ละประเทศในอาเซียนได้ใช้คลื่นความถี่ในการควบคุมการเดินรถที่แตกต่างกัน รวมไปถึงการเดินรถไฟในไทยในปัจจุบัน จะใช้ระบบอาณัติสัญญาณสายเคเบิล ยังไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ แต่ในอนาคตการเดินรถที่ใช้ความถี่มากขึ้นนั้น จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมรองรับให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยการใช้คลื่นความถี่ที่เป็นมาตรฐานในระดับเดียวกันของในภูมิภาค และทั่วโลก

นายพิเชฐ กล่าวต่ออีกว่า EU จะร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน จัดสัมมนาที่ประเทศไทย ในเรื่องการใช้คลื่นความถี่ควบคุมการเดินรถไฟ ในช่วง มิ.ย. 2563 เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และนำประสบการณ์ของยุโรปมาปรับปรุงใช้ในภูมิภาคนี้ รวมถึงการตรวจสอบว่า ในแต่ละประเทศใช้คลื่นความถี่ใดบ้าง เพื่อประยุกต์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อศึกษาว่ากลุ่มประเทศอาเซียนจะใช้คลื่นความถี่ใดในอนาคตด้วย