‘กรมรางฯ’ ผนึกกำลัง ‘เอกชน’ รับลูก Thai First ดันใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศ 40% สร้างมูลค่า 7,000 ล้าน ลุยเร่งศึกษาผลิต ‘เครื่องยึดเหนี่ยวรางรถไฟ’ ใช้เอง ประเดิมใช้ภายในปี 66

“รัฐ-เอกชน” ผนึกกำลังพัฒนาระบบราง สนองยุทธศาสตร์ “Thai First” ดันใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศ 40% สร้างมูลค่า 7,000 ล้านภายใน 4 ปี ช่วยหั่นค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุง พร้อมลุยวางแผนความต้องการใช้บุคลากรด้านระบบรางในอนาคต ด้าน “กรมรางฯ” เร่งศึกษาผลิต “เครื่องยึดเหนี่ยวรางรถไฟ” ใช้เอง ประเดิมใช้ภายในปี 66 ฟาก BTS พร้อมให้ความร่วมมือ เผยใช้ชิ้นส่วนในไทย ช่วยลดต้นทุน 5-10% หนุนไทยฮับการผลิตในภูมิภาค

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบุบราง ระหว่างกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สวทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงานว่า การพัฒนาระบบรางต้องพัฒนาใน 2 ส่วนไปพร้อมกัน ทั้งด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งสถาบันวิจัยต่างๆ ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยกันพัฒนา พร้อมผลักดันระบบรางให้มีศักยภาพ และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับการลงนามในครั้งนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน จะมีการหารือร่วมกันถึงทิศทางในการผลิต ฝึกฝนบุคลากร เพื่อมารองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคตว่า จะมีความจำเป็นจะต้องผลิตบุคลากรผ่านระบบอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบรางในแต่ละปีในจำนวนเท่าใด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงมีการลงทุนระบบรางรูปแบบใหม่จำนวนมาก ทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง

นายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงศ์ อธิบดี ขร.

ด้านนายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดี ขร. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ จะมีการวางมาตรฐานเพื่อกำหนดชิ้นส่วนของรถไฟ และกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์รถไฟ ภายในประเทศให้ได้ 40% ในปี 2566 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ในระบบส่งกำลัง ระบบเบรก และอุปกรณ์ภายในตัวรถได้แล้ว โดยในขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มมีการสั่งซื้อขบวนรถบรรทุกสินค้าที่ประกอบภายในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง อาทิ อุตสาหกรรมเหล็กมีการเติบโตมากขึ้น

นอกจากนี้ การใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ จะทำให้ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงที่ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณกว่า 9,600 ล้านบาทต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็นกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งอาจจะช่วยลดราคาค่าโดยสารของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย โดยในเบื้องต้น ขร. อยู่ระหว่างการพัฒนา ศึกษา และวิจัย ในการผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวรางรถไฟ (Rail Fastener) โดยผู้ประกอบการคนไทย เนื่องจากในปัจจุบันจะเป็นการนำเข้าจากประเทศจีนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะศึกษาและวิจัยแล้วเสร็จภายใน 8 เดือน จากนั้นจะทำการทดสอบทุกสภาวะอากาศระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่จะผู้ผลิตภายในประเทศว่าสามารถผลิตได้หรือไม่ และทดลองใช้ต่อไป โดยคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ภายในปี 2566

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวนั้น เป็นไปตามหลักการ Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้รับประโยชน์ก่อน ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพารา ในโครงการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา แก้ปัญหารายได้ของเกษตรกรด้วย

ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS กล่าวว่า BTS พร้อมให้ความร่วมมือในการใช้วัสดุอุปกรณ์ ที่ผลิตในประเทศ (Local Content) มาใช้ในรถไฟฟ้า BTS โดยในปัจจุบัน บริษัท บอมบาดิเอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอะไหล่ และระบบอาณัติสัญญาณระบบโลก โดย BTS ได้ใช้อุปกรณ์อยู่ ได้มาตั้งโรงงานผลิตระบบเบรค และระบบอาณัติสัญญาณบางส่วนในไทยแล้ว

นอกจากนั้น ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และรถไฟฟ้าสายสีชมพู ซึ่งเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบา ที่ BTS ได้เป็นผู้ดำเนินการนั้น ในส่วนของระบบสับหลีกราง ซึ่งโมโนเรลต้องใช้ ทางบริษัท บอมบาดิเอร์ ก็ได้มีการจ้างให้บริษัทในประเทศไทยเป็นผู้ผลิต ซึ่งจากการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศในหลายๆ ส่วนของ BTS นั้น ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการใช้อุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศกว่า 5-10%

ขณะเดียวกัน BTS ได้มีการเจรจากับ บริษัท ซีเมนส์ จำกัด และบริษัทที่ผลิตขบวนตู้รถไฟฟ้าจากประเทศจีน ให้มาประกอบขบวนรถไฟฟ้าในไทย เนื่องจากในอนาคต BTS มองว่า ประเทศไทยจะมีความต้องการในเรื่องของรถไฟฟ้าจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจา อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าในอนาคตผู้ผลิตจะต้องเข้ามาตั้งโรงงานในประเทศไทยมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะปริมาณความต้องการใช้อุปกรณ์ขิ้นส่วน ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าทั้งระบบมีมหาศาล และต่อไปไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาคเอเซียอีกด้วย