กทม.สั่งเบรคลงทุนรถไฟฟ้าสีเขียวต่อขยายเหนือ-ใต้ ลุยทบทวนใหม่-หวั่นไม่คุ้มค่าการลงทุน

กทม.ดับฝันคนชานเมือง สั่งเบรคลงทุนรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้ 2 หมื่นล้าน ลุยทบทวนใหม่ 2 ปี หวั่นไม่คุ้มค่าการลงทุน พร้อมเล็งขยายสัมปทานบีทีเอส 5-10 ปี แลกค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย สนองความต้องการผู้ว่า กทม.

นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร หรือ กทม. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.ได้สั่งทบทวนและชะลอโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ส่วนต่อขยาย ช่วงสมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 1.37 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือส่วนต่อขยาย ช่วงคูคต-ลำลูกกา วงเงิน 1.19 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เตรียมจะเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. เพื่อขอเปิดประมูลช่วงปลายปีนี้

สำหรับการชะลอโครงการดังกล่าวนั้น เนื่องจากต้องการดูปริมาณผู้โดยสารว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรและจะเหมาะสมในการต่อขยายเส้นทางออกไปหรือไม่ หรือจะทยอยขยายในเส้นทางที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากไปก่อน เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องพิจารณาและเก็บข้อมูลสถิติจากการเปิดให้บริการสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีเขียวเหนือช่วงหมอชิต-คูคต ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลารวมรวบข้อมูล 1-2 ปีก่อนตัดสินใจต่อไป ทั้งนี้ หากเดินหน้าต่อในโครงการนี้ จะเปิดประมูลรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ PPP เพื่อเปิดกว้างให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน โดยจะไม่มีการคัดเลือกเอกชนด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงแบบรถไฟฟ้าใต้ดินแน่นอน

ขณะที่ความคืบหน้าการโอนหนี้สินและทรัพย์สินรถไฟฟ้าสายสีเขียววงเงิน 6 หมื่นล้านบาทนั้น นายสมพงษ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปแนวทางการทยอยชำระหนี้ร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. และกระทรวงการคลังก่อนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กันต่อไป ในส่วนด้านความคืบหน้าการปรับโครงสร้างค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวร่วมกับบีทีเอส นั้นยังคงไม่ได้ข้อสรุป

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า การเจรจาปรับอัตราค่าโดยสารใหม่นั้น ทางผู้ว่า กทม. มีความต้องการชัดเจนในราคาที่ 65 บาทตลอดสาย ซึ่งถือว่าตัวเลขห่างกันมากเมื่อเทียบกับราคาในปัจจุบันที่ 140-145 บาท ดังนั้นกทม.จึงต้องยื่นข้อเสนอการขยายสัมปทานเดินรถให้กับบีทีเอสประมาณ 5-10 ปี เพื่อแลกกับเงื่อนไขการคิดราคาดังกล่าว จากเดิมที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2585 ขณะที่การชะลอโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยายนั้น เพราะหวั่นไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารที่เบาบางบริเวณชานเมือง จึงต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์ของโครงการส่วนต่อขยายเหนือ-ใต้พบว่าในปีแรก (2562) ที่เปิดใช้สายสีเชียวใต้ จะมีปริมาณผู้โดยสาร 9.7 หมื่นคน/วัน รวมรายได้ปีละ 2,868 ล้านบาท จากนั้นในปี 2564 เมื่อเปิดใช้เชียวเหนือ-ใต้ จะมีผู้โดยสาร 3.5 แสนคน/วัน แบ่งเป็นสายเหนือ 2.5 แสนคนและสายใต้ 1.06 แสนคน รวมรายได้ปีละ 5,703 ล้านบาท จากนั้นในปี 2574 จะมีปริมาณผู้โดยสารส่วนต่อขยายรวม 5.34 แสนคน/วัน รวมรายได้ปีละ 14,014 ล้านบาท สุดท้ายในปี 2584 จะมีผู้โดยสารส่วนต่อขยายรวม 5.9 แสนคน/วัน รวมรายได้ปีละ 20,582 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณเติบโตด้านรายได้ประมาณ 700% เมื่อเทียบกับปีแรกที่เปิดให้บริการ (2562) ขณะที่ด้านศักยภาพผู้โดยสารนั้นคิดเป็นการเติบโต 66% เมื่อเทียบกับปีแรกที่เปิดบริการต่อขยายเต็มสาย (2564)