‘อธิรัฐ’ กดปุ่มเปิด ‘ท่าเรือกรมเจ้าท่า’ แลนด์มาร์คใหม่ริมเจ้าพระยา โชว์สถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมผสาน ‘โบซาร์-นีโอคลาสสิก’ พร้อมเล็งปรับปรุงเพิ่ม 4 ท่าเรือ

“อธิรัฐ” กดปุ่มเปิด “ท่าเรือกรมเจ้าท่า” แลนด์มาร์คใหม่ริมเจ้าพระยา โชว์สถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมผสาน “โบซาร์-นีโอคลาสสิก” เล็งปรับปรุงเพิ่ม 4 ท่าเรือ หวังอัพเกรดการให้บริการโดยสารสาธารณะทางน้ำ ฟากฉลองวันวาเลนไทน์ จท. จัดพิธีจดทะเบียนสมรสบน “เรือนแพพระยาวิสูตรสาคร”

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดท่าเรือกรมเจ้าท่า และพิธีจดทะเบียนสมรสบนเรือนแพพระยาวิสูตรสาครว่า กระทรวงคมนาคมได้พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งในภาพรวม เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้รับบริการอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เตรียมความพร้อมการแข่งขันในเวทีเศรษฐกิจการขนส่งสินค้าทุกระบบ โดยเฉพาะระบบการขนส่งสินค้าทางน้ำ นับเป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และเป็นส่วนหนึ่งของระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญ สามารถขนส่งสินค้าที่ปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าได้เป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายปรับปรุงและพัฒนาการขนส่งทางน้ำ โดยการพัฒนาท่าเรือให้มีความทันสมัย ปลอดภัย และสวยงาม เพื่อเป็นส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า (จท.) ได้เริ่มพัฒนาท่าเทียบเรือกรมเจ้าท่า ให้เป็นต้นแบบสำคัญในการพัฒนาเป็นสถานีเรือ เพื่อความปลอดภัยและการท่องเที่ยว โดยนำสถาปัตยกรรมตะวันตก “โบซาร์ ผสมผสานกับ นีโอคลาสสิก” ออกแบบอย่างสวยงาม เป็น Landmark ที่สำคัญในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มปรับปรุงตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2562-10 กุมภาพันธ์ 2563 รวมระยะเวลา 103 วัน มีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 24 เมตร โป๊ะเทียบเรือเป็นรูปตัว L สามารถจุผู้โดยสาร จำนวน 120 คน ด้านบนดาดฟ้าของท่าเทียบเรือเป็นสถานที่ประดิษฐาน “พระพุทธโลกุตรธรรมประชานาถ” ปางรำพึง อันเป็นพระพุทธรูปประจำ จท. เพื่อให้ผู้ที่เดินทางสัญจรทางน้ำ และเรือที่นำเรือผ่านท่าเทียบเรือกรมเจ้าท่า ได้สักการะบูชาและกราบไหว้เพื่อเป็นศิริมงคล

นอกจากนี้ ในอนาคต จท. มีแผนงานที่จะดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาท่าเรือโดยสารให้เป็นสถานีเรือ จำนวน 4 ท่าเรือ ได้แก่ 1.ท่าเรือเทเวศน์ 2.ท่าเรือราชวงศ์ 3.ท่าเรือสี่พระยา และ 4.ท่าเรือราชินี เพื่อยกระดับการให้บริการโดยสารสาธารณะทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา (กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี) โดยการปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารและซ่อมแซมโป๊ะเทียบเรือ ให้มีสภาพมั่นคง แข็งแรง ทันสมัยเหมาะสมต่อการใช้งาน และเกิดความสะดวก ปลอดภัยต่อประชาชนที่สัญจรทางน้ำ และการเดินเรือ อีกทั้งเพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำที่อาจเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน จท. ได้ร่วมกับสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จัดกิจกรรม “หว่ออ้ายหนี่ ที่สัมพันธ์ สมรสกันที่เจ้าท่า” โดยมีคู่รักร่วมพิธีแห่ขันหมากทางเรือจากท่าเรือริเวอร์ชิตี้มายังท่าเรือ จท. พิธีจดทะเบียนสมรสบนเรือนแพพระยาวิสูตรสาคร ซึ่งเป็นแพต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวทางน้ำตามมาตรฐานของ จท. นับเป็นการสืบสานประเพณีที่สำคัญของประเทศไทยให้ดำรงต่อไป