ครม.ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ‘ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์’ 1.42 แสนล้าน เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน PPP สัญญา 30 ปี

ครม. ไฟเขียวรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก “ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์” 1.42 แสนล้าน เปิดทางเอกชนร่วมลงทุน PPP สัญญา 30 ปี พร้อมรับความเสี่ยงรายได้จากค่าโดยสาร พ่วงการพัฒนาเชิงพาณิชย์

รายงานจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันนี้ (28 ม.ค. 2563) มีมติอนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 1.42 แสนล้านบาท ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เสนอ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการในรูปแบบ PPP Net Cost ทั้งนี้ ภาครัฐลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ ที่ดินโครงการฯส่วนตะวันตก ส่วนค่างานโยธาให้ภาคเอกชนลงทุนไปก่อน และภาครัฐจะทยอยจ่ายคืนระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี (อัตราคิดลด 5%)

นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะลงทุนค่างานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า บริหารการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง ตั้งแต่ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการฯ มีระยะเวลาเดินรถ 30 ปี นับจากเริ่มเปิดให้บริการโครงการฯ ส่วนตะวันออกในช่วงปี 2567 เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน เอกชนจะเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสารและรับความเสี่ยงด้านรายได้จากค่าโดยสาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยภาครัฐไม่มีภาระสนับสนุนทางการเงินแก่เอกชนในส่วนงานระบบรถไฟฟ้าฯ

ในส่วนของมูลค่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.42 แสนล้านบาทนั้น แบ่งเป็น ค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการฯ วงเงิน 14.66 หมื่นล้านบาท ค่างานโยธาโครงการฯ วงเงิน 9.6 หมื่นล้านบาท รวมวงเงินลงทุนของภาครัฐ 1.10 แสนล้านบาท ขณะที่เอกชนจะลงทุนค่างานระบบไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า วงเงิน 3.1 หมื่นล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารการเดินรถ ควบคุมงานระบบไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาทั้งโครงการ วงเงิน 1.11 พันล้านบาท

สำหรับขอบเขตและเงื่อนไขในการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนนั้น จะจำกัดอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 12 สถานี ทั้งนี้ รฟม.ได้ปรับอัตราค่าโดยสาร 3% ต่อ 2 ปี รวมทั้งกำหนดกติกาให้มีผู้เข้าแข่งขันได้จำนวนมากราย และให้มีการประกวดราคาโดยแข่งขันอย่างยุติธรรม ตามมติบอร์ด รฟม. เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2561 ที่ระบุไว้ว่า เอกชนจะต้องแข่งขันว่ารายใดจะเสนอต้นทุนค่าก่อสร้างและอัตราดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่ากัน ในส่วนงานระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถไฟ และงานเดินรถนั้น เอกชนจะต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด โดยเอกชนต้องยื่นข้อเสนอว่า รายใดจะรับผลประโยชน์จากค่าโดยสารและพื้นที่เชิงพาณิชย์ต่ำกว่ากัน