‘บิ๊กตู่’ สั่ง ‘คมนาคม’ ปัดฝุ่นเส้นทางรถไฟ ‘ชุมพร-ระนอง’ เล็งศึกษาใหม่ ดึงงบกลางปี 63 กว่า 90 ล้าน ด้าน ‘ศักดิ์สยาม’ ย้ำ ‘กรมรางฯ’ ดึงโมเดล ตปท.มาใช้

“บิ๊กตู่” สั่งปัดฝุ่น “รถไฟชุมพร-ระนอง” บูมขนส่งประเทศเพื่อนบ้าน “คมนาคม” เด้งรับใช้งบกลางปี 63 วงเงิน 90 กว่าล้านลุยศึกษาใหม่ ด้าน “ศักดิ์สยาม” ย้ำ “กรมรางฯ” เน้นประโยชน์ ปชช. ดึงโมเดล ตปท.ประยุกต์ใช้ในไทย ฟาก พ.ร.บ.ขนส่งทางรางฯ จ่อเสนอ ครม. หลัง เม.ย.นี้

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ว่า ขร. มีภารกิจในการกำกับดูแล พร้อมวางแผนโครงข่าย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางทั้งหมด ครอบคลุมทั้งประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และประเทศชาติ รวมถึงพิจารณาการเชื่อมต่อระบบรางกับประเทศเพื่อนบ้าน จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ตั้งของไทย ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของโลก เช่น กลุ่มประเทศ BIMSTEC ยุโรป และเชื่อมต่อจาก สปป.ลาว-กัมพูชา-เวียดนาม ไปยังจีน-ญี่ปุ่นต่อไป เป็นต้น

ทั้งนี้ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ทบทวนการศึกษารถไฟ เส้นทางชุมพร-ระนอง เชื่อมต่อการเดินทางทั้งระบบ โดยเฉพาะทางน้ำ เพื่อให้การดำเนินการเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด เดิมการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้เสนอของบประมาณในการศึกษาไว้แล้ว โดยจะตั้งงบประมาณปี 2563 แต่ทางสำนักงบประมาณได้ความเห็นให้ชะลอไปก่อน ดังนั้นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีนโยบายมาให้ รฟท.นำเรื่องดังกล่าวมาศึกษาออกแบบรายละเอียดใหม่อีกครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมจะใช้งบกลางปี 2563 วงเงิน 90 ล้านบาท ตามข้อแนะนำของนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาแล้วเสร็จภายในปี 2564 

อย่างไรก็ตาม การเร่งรัดการศึกษาในเส้นทางดังกล่าวนั้น เนื่องจากต้องการให้มีการขนส่งเชื่ออมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ ทุกเส้นทางมีความจำเป็น แต่ต้องจัดลำดับความสำคัญ ขณะเดียวกัน ในส่วนของกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ร่วมกับกรมรางฯ สร้างเป็นสะพานเศรษฐกิจ (แลนด์บริดจ์) นั้น อาจจะต้องขยับมาอยู่ในพื้นที่ที่ประชาชนให้ความร่วมมือ และมีความเข้าใจ ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ซึ่งการดำเนินการจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-หัวหินนั้น ให้ดำเนินการตามแนวเส้นทางที่ศึกษาไว้เหมือนเดิม แต่ในอนาคตจะพิจารณาให้มีการกระจายการพัฒนา ด้วยรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการพัฒนา ไม่จำเป็นว่าแนวเส้นทางต้องวิ่งเข้าสู่พื้นที่ในเมือง แต่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งทำให้เมืองกระจุกตัวในการพัฒนาระบบ คมนาคม ดังนั้น หากสามารถหาความเหมาะสมได้ แต่แนวทางการศึกษาต้องสามารถอธิบายให้ประชาชนทราบได้ 

ทั้งนี้ การวางโครงข่ายทางรถไฟ ทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้านั้น จะต้องมีความเหมาะสม พร้อมด้วยสร้างการพัฒนาเมืองรองรับในอนาคต อาทิ การสร้างที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล และสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นการลดการกระจุกตัวในเมืองเดิม ตอบโจทย์การดำเนินการที่จะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนมาเป็นลำดับแรก ตามด้วยภาครัฐ และเอกชน นอกจากนี้ จะต้องนำต้นแบบของประเทศที่ประสบความสำเร็จในระบบราง มาประยุกต์ใช้ในไทย อีกทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยดำเนินการให้มากที่สุด

ขณะที่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การขนส่งทางราง พ.ศ. … นั้น ในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จหลัง เม.ย. 2563 ก่อนส่งกลับมายังกระทรวงคมนาคม จากนั้นจะส่งไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดยในระหว่างนี้ ขร. จะต้องเตรียมความพร้อม หาก พ.ร.บ.การขนส่งทางรางฯ ดังกล่าว ผ่านการพิจารณา เพื่อเดินหน้าดำเนินการ ทั้งในเรื่องของบุคลากร รวมถึงการออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับระบบราง เช่น ใบอนุญาตขับขี่รถไฟ เป็นต้น ในส่วนของการแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟ และปัญหาการจราจรนั้น จะต้องมีการกำหนดนโยบายอย่างชัดเจน และบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กรมทางหลวง (ทล.) เพื่อพิจารณาสร้างทางยกระดับ หรือทางลอด ในการแก้ปัญหาดังกล่าว

รายงานข่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) แจ้งว่า สำหรับโครงการรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ที่ สนข.ได้เคยศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อม เส้นทางรถไฟชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนองเสร็จแล้ว พบว่า โครงการดังกล่าว เป็นรถไฟรางเดี่ยว ระยะทาง 108 กม. เบื้องต้นมี 9 สถานี ได้แก่ สถานีขุนกระทิง สถานีบ้านนา สถานีวังใหม่ สถานีปากจั่น สถานีกระบุรี สถานีบางใหญ่ สถานีละอุ่น สถานีท่าเรือน้ำลึกระนอง และสถานีระนอง

โดยจุดเริ่มต้นนั้น คือ แนวเส้นทางบริเวณพื้นที่ทางใต้ของสถานีรถไฟชุมพร จากนั้นมุ่งไปทางด้านทิศตะวันตกตัดผ่านทางหลวงหมายเลข ชพ.3009 มุ่งต่อไปทางทิศตะวันตกและขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านพื้นที่เขต ต.ขุนกระทิง ต.บ้านนา ต.วังใหม่ อ.เมือง จ.ชุมพร และผ่าน ต. จ.ป.ร. ต.ปากจั่น อ.กระบุรี จ.ระนอง ต่อจากนั้นแนวเส้นทางมุ่งลงทางทิศใต้และขนานไปกับถนนเพชรเกษม ด้านฝั่งตะวันออกผ่านพื้นที่ ต.มะมุ ต.น้ำจืดน้อย ต.น้ำจืด อ.กระบุรี จ.ระนอง แนวเส้นทางยังมุ่งลงทางทิศใต้ขนานกับถนนเพชรเกษม แต่สลับมาอยู่ด้านตะวันตก ผ่านพื้นที่ ต.ลำเลียง ต.บางใหญ่ อ.กระบุรี และ ต.บางแก้ว ต.บางพระใต้ อ.ละอุ่น ต.ทรายแดง ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.ระนอง มีสภาพื้นที่เป็นป่าชายเลน สลับกับเนินเขาและตัดผ่านคลองสำคัญ เช่น คลองลำเลียง คลองละอุ่นแมะไปสิ้นสุดโครงการบริเวณท่าเรือน้ำลึกระนอง