‘ถาวร’ เผย ‘ไทย’ ปริมาณจราจรทางอากาศหนาแน่นแตะ 2 ล้านเที่ยวภายใน 15 ปี จ่อขึ้น Top 10 ขนาดตลาดการบินของโลก แซง ‘อิตาลี-ฝรั่งเศส’

“ถาวร” ดัน “ไทย” ฮับการบินทัดเทียมเบอร์ต้นเอเชีย ลุยเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม รับปริมาณจราจรทางอากาศหนาแน่น คาดผ่านน่านฟ้าไทยแตะ 2 ล้านเที่ยวบินภายในอีก 15 ปี จ่อขึ้น Top 10 ขนาดตลาดการบินของโลก แซง “อิตาลี-ฝรั่งเศส” สั่ง บวท. บริหารจัดการลดการบินวน สูญเสียกว่าปีละ 100 ล้าน พ่วงเน้นใช้ IT มากขึ้น-รับมือโดรนเชิงพาณิชย์ 

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ภายใต้แนวคิด “เชื่อมไทย เชื่อมโลก” โดยจากข้อมูลพบว่า บวท.เป็นองค์กรที่ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อาทิ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางด้านการจราจรทางอากาศ สอดรับกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยอยู่ในสถานการณ์ที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่น โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ปริมาณการจราจรทางอากาศของ 35 สนามบินของไทย เติบโตขึ้นปีละ 10% เฉลี่ยวันละประมาณ 3,000 เที่ยวบิน หรือไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี และจะเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว หรือไม่น้อยกว่า 2 ล้านเที่ยวบินต่อปีภายใน 15 ปี

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินของโลกในอนาคตนั้น จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ซึ่งจากการรคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) นั้น ระบุว่า ขนาดตลาดด้านการบินของไทยและตุรกีจะอยู่ใน 10 อันดับสูงสุดของโลก แทนที่อิตาลีและฝรั่งเศส ภายในปี 2579 ขณะที่ในปี 2565 นั้น จีนจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ตลาดด้านการบินที่ใหญ่ที่สุดของโลก แทนสหรัฐอเมริกาที่ครองแชมป์อยู่ในปัจจุบัน หลังจากจีนมีคำสั่งซื้อเครื่องบินเพิ่มเติมกว่า 1,000 ลำ

นายถาวร กล่าวต่ออีกว่า ได้มอบนโยบายให้ บวท. ดำเนินการบริหารจราจรทางอากาศ ให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงตามเวลา พร้อมทั้งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาการจราจรปลายทางว่า มีความแออัดหรือไม่ ก่อนที่จะทำการบินขึ้นจากสนามบินต้นทาง เพื่อป้องการการบินวนของแต่ละสายการบิน อาทิ ปัญหาที่สนามบินภูเก็ต และสูญเสียรายได้ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

ขณะเดียวกัน ให้พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้แทนกำลังคนมากขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีความแม่นยำสูง และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการด้วย อาทิ การติดตั้งกล้องและระบบ IT บริเวณหอบังคับการบิน เพื่อควบคุมการบริหารการจราจรทางอากาศ ซึ่งจะสามารถควบคุมได้ครอบคลุมในภูมิภาคนั้น เช่น บริหารการจราจรทางอากาศของสนามบินนราธิวาส สนามบินเบตง โดยควบคุมที่สนามบินหาดใหญ่ เป็นต้น

นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม

ขณะที่ อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่มีแนวโน้มว่าจะนิยมใช้กันมากขึ้น เตรียมบูรณาการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กองทัพอากาศ รวมถึงอากาศยานไร้คนขับให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของวิทยุการบินอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งศึกษา และปรับปรุงระเบียบข้อกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้โดรนในเชิงพาณิชย์ในอนาคต อาทิ โดรนขนส่งสินค้า และโดรนโดยสารส่วนบุคคลในเส้นทางระยะสั้น เช่น ตรัง-นครศรีธรรมราช, ตรัง-หาดใหญ่, สุวรรณภูมิ-นครปฐม, ดอนเมือง-นครราชสีมา, สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็นต้น

รายงานข่าวจาก บวท. ระบุว่า จากการที่ปริมาณจราจราทางอากาศของประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โครงสร้างเส้นทางการบิน และการบริหารจัดการห้วงอากาศในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตนั้น ส่งผลให้การใช้งานพื้นที่ห้วงอากาศไม่มีประสิทธิภาพ และอาจเกิดความไม่ปลอดภัยในการจราจรทางอากาศ รวมถึงประสิทธิภาพในการปฏิบัติการบิน ซึ่งจากการเติบโตของปริมาณเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง บวท.ได้มีการติดตามแนวโน้มการเดินทางในทิศทางต่างๆ พร้อมกับการพัฒนาเส้นทางบินให้เกิดเป็นเส้นทางบินคู่ขนานแบบทิศทางเดียวจากความร่วมมือระหว่าง บวท.และกองทัพอากาศ โดยการจัดสร้างเส้นทางบินแบบ RNAV ใช้เทคโนโลยีด้านการบิน และพัฒนาเส้นทางบินคู่ขนาน 

นอกจากนี้ ยังได้จัดการจราจรแบบทางเดียว เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และความคล่องตัวของการจราจรทางอากาศ ลดภาระงานในการบริการจราจรทางอากาศและการปฏิบัติการบินให้กับเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ รวมถึงการประสานการใช้พื้นที่ห้วงอากาศร่วมกับหน่วยงานทางทหารเพื่อความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ห้วงอากาศ บวท.ได้มีการพัฒนาเส้นทางการบินคู่ขนานในทุกทิศทางการเดินทางสำคัญ โดยนอกจากจะอาศัยความร่วมมือจากกองทัพอากาศแล้วยังเป็นการพัฒนาเส้นทางบินร่วมกับประเทศเพื่นบ้านเพื่อให้เกิดเส้นทางการบินแบบต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในบิน