‘ถาวร’ จี้ ‘ไทยสมายล์’ ลดต้นทุน-เพิ่มรายได้ พร้อมปรับกลยุทธ์ต่างจาก Low Cost พ่วงประสานงาน TG อย่างใกล้ชิด

“ถาวร” ตรวจงาน “ไทยสมายล์” สั่งลดต้นทุนพร้อมหาช่องทางเพิ่มรายได้ พร้อมปรับกลยุทธ์แตกต่างจาก Low Cost จี้ส่งรายงานย้อนหลัง 6-7 ปี ดูสถานะการดำเนินงาน ด้าน “สุเมธ” ดีดีบินไทย ลุยจัดตารางการบินให้สอดคล้องกัน ฟากบอร์ดบินไทยตั้ง “พลอากาศเอกชัยพฤกษ์” นั่งประธานบอร์ดฯ มีผล 16 ม.ค. 63

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการบริหารงานให้กับผู้บริหาร บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จํากัดว่า ได้มอบนโยบายการบริหารงานในการเร่งลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ โดยเพิ่มช่องทางการรับรู้รายได้ ไปยังธุรกิจภาคบริการอื่นๆ โดยใช้แบรนด์ไทยสมายล์เป็นตัวนำร่อง เช่น การขนส่งสินค้า การขายสินค้าบนเครื่องบิน การเพิ่มกลยุทธ์ที่แตกต่างจากสายการบิน Low Cost ลดต้นทุน เป็นต้น

“เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ โดยลดค่าใช้จ่ายเพื่อไปสู่เป้าหมายในการทำกำไรสูงสุดโดยเร็ว ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย กับ บริษัท ไทยสมายล์ ควรทำงานร่วมกันแบบประสานในทุกด้าน ส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างใกล้ชิด เสมือนเป็นบริษัทเดียวกัน ทั้งด้านการจัดการ การปฏิบัติการ การบริการ การจัดเส้นทางการบิน และการตลาด เพื่อไม่ให้เกิดความเปรียบเทียบและแข่งขันระหว่างกัน”นายถาวร กล่าว

นอกจากนี้ ต้องปฏิบัติงานร่วมกันกับองค์กรอื่น โดยไทยสมายล์ ควรหาความชัดเจนในการวางแผนเส้นทางการบิน ควรหลีกเลี่ยงการบินทับเส้นทางระหว่าง บริษัท การบินไทย กับ บริษัท ไทยสมายล์ เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกันเอง และการสับสนของผลิตภัณฑ์แบรนด์สินค้า ยกเว้นกรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น เช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่, กรุงเทพ-ภูเก็ต รวมทั้งสามารถเชื่อมต่อเส้นทางบินของการบินไทย 

ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติงานร่วมกันกับองค์กรอื่น โดยดำเนินการเที่ยวบินร่วม (CodeShare Flight) กับสายการบินอื่น และเข้าร่วมเป็นสมาชิก Star Alliance Connecting Partner โดยการบริการให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับการบินไทย ด้านการบริการและภาพลักษณ์ที่สอดคล้องกัน ไม่เปรียบเทียบกัน เสมือนเป็นสายการบินเดียวกัน และควรจัดทำ Action Plan และแผนฟื้นฟูสำหรับติดตามและสนับสนุนการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้บริษัทรวบรวมผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6-7ปีที่ผ่านมา ว่ามีสถานะอย่างไรบ้างโดยจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1สัปดาห์ รวมถึงกรณีการเปิดน่านฟ้าเสรีนั้น มีแผนรับมือกับการแข่งขันอย่างไรบ้าง ส่วนแผนการจัดหาเครื่องบินทั้ง 2 สายการบิน คือ การบินไทย และ ไทยสมายล์นั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยได้มีการเร่งรัดเนื่องจากจะต้องจัดหาเพื่อมารองรับการให้บริการเร่งด่วน ซึ่งมีความจำเป็นด้านการแข่งขัน

“ประเด็นนี้ก็ได้สั่งการไปยังพลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จะต้องศึกษาให้เหมาะสมกับเส้นทางการบิน เรื่องของขนาดที่ให้บริการ รวมถึงจะต้องจัดทำแผนธุรกิจการจัดหาเครื่องให้คุ้มค่าและสามารถทำกำไรได้” นายถาวร กล่าว

ด้านนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย  จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในการวางแผนการดำเนินงานจะต้องมีการหารือ เพื่อเดินตามยุทธศาสตร์ของการขนส่งระหว่างประเทศ ทั้งผู้โดยสารและพัสดุ จึงส่งผลให้ในการจัดการทรัพยากรจะต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ร่วมกันกับทางสายการบินไทยสมายล์ และในฐานะที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทำหน้าหน้าที่กำกับเงินทุน จัดการทรัพยากรต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องกลับมาช่วยกันดูแล และอีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นจะต้องทำ คือ การจัดตารางการบินต่อวัน ที่จำเป็นจะต้องให้สอดคล้องกันกับหน่วยงานทางด้านการบินที่เกี่ยวข้อง จึงต้องร่วมมือกันหากต้องการที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านการบิน เนื่องจากเป็นเรื่องสำคัญสายการบินไทยซึ่งเป็นสายการบินหลักที่ขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศการทำให้มีประสิทธิภาพในการขนส่งก็จะส่งผลให้ยุทธศาสตร์ของประเทศขับเคลื่อนไปได้

รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา มีมติแต่งตั้งกรรมการ ดังนี้ 

1.แต่งตั้ง พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยศริน เป็นประธานกรรมการบริษัท แทนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

2.แต่งตั้ง พลอากาศเอกชาญยุทธ ศิริธรรมกุล เป็นรองประธานกรรมการบริษัท

3.แต่งตั้ง นายจักรกฤศฏิ พาราพันธกุล เป็นกรรมการบริษัท 

ทั้งนี้ มติดังกล่าวให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2563 เป็นต้นไป