ทช.เร่งเปิดประมูลงานซ่อม-สร้างถนนชนบททั่วประเทศ 4.6 หมื่นล้านบาท ภายใน 4 เดือน พร้อมดันโปรเจ็กต์ยางพาราช่วยเกษตรกร

ทช.เร่งเปิดประมูลงานซ่อม-สร้างถนนชนบททั่วประเทศ 4.6 หมื่นล้านบาท ภายใน 4 เดือน พร้อมกางแผนถนนเลียบชายฝั่งอันดามัน ช่วงราชบุรี-ระนอง-ภูเก็ต ลุยมาตรการยางพาราช่วยเกษตรกร ตั้งเป้าปี 63 มูลค่าหมื่นล้านบาท

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า สำหรับงบประมาณปี 2563 นั้นมีทั้งสิ้น 48,000 ล้านบาท แบ่งเป็น งบลงทุน 46,560 ล้านบาท และงบประจำ 1,440 ล้านบาท สำหรับงบลงทุน 97% นั้นเป็นงานก่อสร้างและปรับปรุงถนนทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 3,000 สัญญา คาดว่าจะเร่งเปิดประมูลทั้งหมดภายในเดือน มี.ค.2563 โดยจะมีการพัฒนาถนน เพื่อการท่องเที่ยว งบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ได้แก่ พัฒนาถนนท่องเที่ยวภาคใต้ 537 ล้านบาท ถนนไทยแลนด์ริเวียร่า ถนนเลียบทะเลอ่าวไทย และถนนเลียบทะเลอันดามัน รวมถึงถนนเชื่อมต่อเส้นทางเขตเศรษฐกิจชายแดน ขณะที่งบด้านการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน อยู่ที่ 4,000 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,000 แห่งทั่วประเทศ

ในส่วนด้านงบประมาณปี 2564 นั้น จะสรุปกรอบเพื่อดเสนอกระทรวงคมนาคมภายในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2563 คาดว่าจะเสนอกรอบวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีโครงการขนาดใหญ่ เช่น แผนพัฒนาถนนผังเมืองปราจีนบุรี 1,800 ล้านบาท พัฒนาถนนผังเมืองเชียงราย 1,300 ล้านบาท และพัฒนาถนนผังเมืองมุกดาหาร 900 ล้านบาท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จะต้องเร่งเบิกงบปี 2562 ซึ่งค้างท่ออยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาทด้วย เนื่องจากมีผลต่อการเสนอของบประมาณปี 2564 โดยปัญหาของงบค้างท่อนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากเศรษฐกิจไม่ดี ผู้รับเหมาจึงมีการทิ้งงานก่อสร้างราว 7 ราย จึงต้องเร่งเปิดประมูลหาผู้รับจ้างรายใหม่

นายปฐม กล่าวต่ออีกว่า การพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอันดามัน มีชื่อว่า เส้นทางตะนาวศรีนั้น จะเลาะเลียบทะเลชายฝั่งอันดามัน เป็นถนนเพื่อการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่ง (Scenic Route) เช่นเดียวกับเส้นทางไทยแลนด์ริเวียร่า โดยมีจุดเริ่มต้นที่ จ.ราชบุรี ใช้เส้นทางสายรองช่วงจอมบึง-แก่งกระจาน ก่อนสลับมาใช้ถนนเพชรเกษมสายหลักช่วง เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนไปแยกเข้าเส้นทาง Scenic Route ช่วงชุมพร-ระนอง-พังงา ก่อนสิ้นสุดเส้นทางที่จังหวัดภูเก็ต ระยะทางรวมมากกว่า 1,000 กม. ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยในปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงการออกแบบรายละเอียดของโครงการฯ ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการต่างๆ และการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป

สำหรับการส่งเสริมการใช้ยางพาราตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะให้มีการตั้งงบประมาณปี 2564 เพื่อดำเนินการติดตั้งแผ่นยางพาราครอบบิเออร์ (Rubber Fender barrier) นั้น นายปฐม กล่าวว่า ทช.ตั้งเป้าการใช้น้ำยางสดไม่ต่ำกว่า 25,000 ตัน เพื่อมาใช้ในโครงการก่อสร้างของ ทช.มูลค่า 14,500 ล้านบาท ขณะที่ในปีงบประมาณ 2563 นั้นก็คาดว่าจะมีการใช้น้ำยางดิบประมาณ 25,000 ตัน

ทั้งนี้ การศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ในงานบำรุงรักษาทาง และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยนั้น ทช. ได้ร่วมกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) การศึกษาแนวทางการนำยางพารามาใช้ฯ ได้แก่ เสาหลักนำทาง และแบริเออร์แบบ Single Slope Barrier หุ้มด้วยยางพาราหนา 2 นิ้ว สามารถลดแรงกระแทกเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะลดความรุนแรงของอัตราการบาดเจ็บลงได้ ปัจจุบัน มอ. ได้จัดส่งยางพาราแผ่น (Rubber Fender Barrier หรือ RFB) แบบโมเดลต่าง ๆ ให้ วว. โดย วว.จะทำการทดสอบการชนของรถยนต์ส่วนบุคคล ณ ศูนย์ทดสอบของ วว. บริเวณอ่างเก็บน้ำลำตะคลองจังหวัดนครราชสีมาภายในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ และจะส่งผลการทดสอบพร้อมกับวัสดุทดสอบไปยังประเทศเกาหลีใต้เพื่อสรุปผลการทดสอบตามมาตรฐานต่อไป ซึ่งคาดว่าการดำเนินการทดสอบดังกล่าวจะอยู่ระหว่างวันที่ 20 – 28 ก.พ. 2563 และคาดว่าจะทราบผลการทดสอบในเดือน มี.ค. 2563