‘ขสมก.’ จับมือ ‘สหภาพฯ’ ตั้งโต๊ะแถลงแผนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ ลุยเช่ารถเอกชน 2,511 คัน-ลดเส้นทางทับซ้อน พร้อมออกตั๋ว 30 บาทตลอดวัน

“ขสมก.” จับมือ “สหภาพฯ” ตั้งโต๊ะแถลงแผนฟื้นฟูฯ ฉบับใหม่ แจงปมเช่ารถ 2,511 คันจ่ายตาม กม. พ่วงปรับเส้นทางทับซ้อน พร้อมออกตั๋ว 30 บาทตลอดวัน หวังเอาใจประชาชน คาดเสนอเข้าบอร์ด ขสมก.ใหม่ ม.ค. 63 ก่อนเปิดประมูลช่วงกลางปีหน้า ด้าน “สุระชัย” ผอ.ขสมก. ระบุ เตรียมบอกลารัฐอุดหนุนภายใน 5-10 ปี ฟาก “บุญมา” ปธ.สหภาพฯ ไม่ขัดแผนฟื้นฟูใหม่ แนะรถใหม่ต้องมีคุณภาพ

นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า จากการหารือและทำความเข้าใจร่วมสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) แล้วนั้น ยืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปองค์กรตามที่มีกระแสข่าวอย่างแน่นอน ขณะที่ในส่วนของแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมานั้น ขสมก.ได้มีการทบทวน และปรับปรุง 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การยกเลิกลงทุนจัดซื้อรถเมล์ใหม่ มูลค่า 20,000 ล้านบาท ปรับเป็นการเช่ารถเมล์ใหม่แบบจ่ายเงินตามกิโลเมตร (กม.) ที่วิ่งจริง 2,511 คันจากเอกชน พร้อมเปิดประมูลให้ยื่นข้อเสนอ โดย ขสมก. ไม่ต้องลงทุน และรับความเสี่ยงเรื่องซ่อมบำรุง และ 2.ภาระหนี้สินจำนวน 100,000 ล้านบาทนั้น จะยึดตามเดิม คือ รัฐบาลต้องอุดหนุนหนี้สินประมาณ 80,000 ล้านบาท ที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ ขสมก. ยังเตรียมเสนอแผนขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) อีก 10,000 ล้านบาท ทยอยขอรับเป็นรายปี เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ต้องปฏิรูปการบริหารรถเมล์ใหม่ทั้งหมด ระหว่างนี้จะยังมีต้นทุนเท่าเดิมและมีปัจจัยเสี่ยงทางธุรกิจทั้งการขึ้นค่าแรงของรัฐบาลและความผันผวนด้านราคาน้ำมัน

ทั้งนี้ การเปิดประมูลจัดเช่ารถเมล์ใหม่ทั้งหมด ตอนนี้ยังไม่ได้สรุปเรื่องประเภทรถว่าจะใช้ระบบรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV), รถเมล์ไฟฟ้า (EV) หรือรถโดยสารปรับอากาศระบบดีเซลและไฟฟ้า (Hybrid) จึงยังไม่มีวงเงินที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้เปิดประมูลกลางปี 2563 และเปิดประมูลหลายสัญญา เพื่อให้ได้เอกชนสัก 2-3 ราย เช่น สัญญาละ 800 คัน โดยต้องการเอกชนรายใหญ่ เพื่อความมีเสถียรภาพงานบริการ ดังนั้น หากยึดตามแนวทางนี้จะยกเลิกโครงการปรับปรุงรถเมล์เก่า 323 คันไปด้วย เพราะจะใช้รถเมล์ใหม่ทั้งหมด ส่วนรถเมล์ใหม่จะเป็นระบบของจีน เอเชีย หรือยุโรปนั้น ต้องขึ้นอยู่กับเอกชนที่ประมูลโครงการ

นายสุระชัย กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้รอเสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) คาดว่าจะเสนอได้ในช่วงต้น ม.ค. 2563 ก่อนส่งต่อไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อพิจารณาเรื่องการเปิดให้เอกชนมาร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) และเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อขอความเห็นชอบปรับปรุงแผนฟื้นฟูต่อไป ส่วนทิศทางดำเนินธุรกิจคาดว่า จะหยุดขาดทุนได้ภายใน 5 ปี และเริ่มมีกำไรที่ช่วง 5-10 ปีนับจากนี้ เมื่อกิจการคุ้มทุนแล้วจะยกเลิกการขออุดหนุน PSO จากรัฐบาล ทั้งนี้ การเช่ารถเมล์ทั้งหมดแทนการซื้อนั้น จะมีความยืดหยุ่นในด้านบริหาร ด้วยอายุสัญญาเพียง 7 ปี ทำให้ปรับกลยุทธ์ตามเทรนด์ของผู้โดยสารได้ เพราะอนาคตผู้โดยสารอาจลดลงจากการเปิดบริการรถไฟฟ้าสายใหม่ ขสมก. ไม่ต้องเสี่ยงลงทุนเพื่อถือสินทรัพย์ที่มาพร้อมดอกเบี้ยในระยะยาว รวมถึงในเรื่องของต้นทุนยังถูกกว่าด้วย กล่าวคือ ในปัจจุบันรถเมล์ปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) กม. ละ 50 บาทรวมดอกเบี้ย หากเป็นการเช่ารถเมล์จะลดต้นทุนละ 11 บาท เหลือไม่เกิน 39 บาทต่อ กม.เท่านั้น

สำหรับอัตราค่าโดยสารใหม่ 30 บาท/วันทุกเส้นทาง จะคุ้มค่าหรือไม่นั้น นายสุระชัย กล่าวว่า ขึ้นกับหลายปัจจัย หากผู้โดยสารเพิ่มขึ้น และการลดภาระเรื่องบริหารจัดการรถเก่ารวมถึงค่าจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสารในส่วนที่ใช้ระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Ticket) ทดแทน อาจส่งผลให้การขาดทุนหายไปเป็นได้ ส่วนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ใหม่ของกระทรวงคมนาคม รถเมล์จะมีความถี่มากขึ้น 5-10 นาที่ต่อคัน ผู้โดยสารไม่ต้องรอนานเหมือนในปัจจุบัน จะไม่มีการวิ่งทับซ้อนเส้นทางกันเหมือนทุกวันนี้ เช่น ช่วงลาดพร้าว-แฮปปี้แลนด์ ทับซ้อนกัน 27-28 สาย และ ช่วงบีทีเอสจตุจักร-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทับซ้อนกัน 30 สาย ปฏิรูปเส้นทางจะไม่มีรถเมล์สายยาวอีกจะต้องต่อรถเมล์มากขึ้นในการเดินทางระยะไกลแต่แลกมากับค่าโดยสารที่เข้าถึงได้

ด้านนายบุญมา ป๋งมา ประธาน สร.ขสมก. กล่าวว่า การปรับปรุงแผนฟื้นฟูองค์การ สร.ขสมก. เป็นห่วงประชาชนและพนักงานจะได้รับผลกระทบ สำหรับแผนฟื้นฟูนั้นเห็นด้วยกับการจัดเช่ารถโดยสารใหม่ 2,511 คัน แต่รถที่จะนำมาเช่านั้นต้องเป็นรถที่มีคุณภาพใช้ได้ทนทาน ไม่เสี่ยงต่อมีปัญหารถเสียกลางทาง ซึ่งอาจจะมาจากยุโรป และญี่ปุ่นได้ ทั้งนี้การกำหนดเส้นทางเดินรถประมาณ 137 เส้นทาง ต้องให้ สร.ขสมก.เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะทำงานกรือคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 3 คน ตลอดจนการเก็บค่าโดยสาร 30 บาทต่อวัน ไม่จำกัดเที่ยว แต่รัฐบาลต้องให้การอุดหนุนเงินส่วนต่างที่ขาดหายไปในรูป PSO ทั้งรถธรรมดา (รถเมล์ร้อน)  และ รถปรับอากาศ (รถเมล์แอร์) โดยเป็นรายปี เพราะกลัวจะเป็นการสร้างภาระหนี้ ขสมก. สะสมมากขึ้น และโครงการเกษียณก่อนกำหนด (เออรี่รีไทร์) องค์การจะไม่บังคับพนักงานให้เข้าโครงการโดดเด็ดขาด แต่เป็นไปด้วยความสมัครใจ รวมถึงองค์การต้องให้ สร.ขสมก.มีส่วนร่วมในกิจการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพการจ้างงานของพนักงานและกิจการ อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและองค์กร