35 องค์กร ค้านสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา


“สมัชชาแม่น้ำ” 35 องค์กร แถลงการณ์ค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ของ กทม. ซัดศึกษาไม่รอบคอบ หวั่นทำลายประวัติศาสตร์ – ทำแม่น้ำแคบลง 20 เมตร – เสี่ยงน้ำท่วม “สมาคมผังเมือง” ร่วมด้วยเกรงเป็นแหล่งมั่วสุม แนะใช้พื้นที่รัฐนำร่องได้

นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูป ถัมภ์ ในฐานะผู้ประสานงานสมัชชาแม่น้ำ พร้อมด้วยองค์กรวิชาชีพ และเครือข่าย จากภาคประชาสังคมจำนวน 35 องค์กร ร่วมแถลงการณ์คัดค้านโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา

โดยระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร(กทม.)มีแผนจะเดินหน้าสร้างทางเลียบเจ้าพระยา เฟสแรกจากสะพานพระราม 7 ถึงกรมชลประทานสามเสน(ฝั่งพระนคร) และจากสะพานพระราม7 ถึงคลองบางพลัด (ฝั่งธนบุรี) โดยอ้างว่าไม่มีผู้คัดคำนโครงการดังกล่าว ทั้งที่ก่อนหน้านี้สมาคมฯได้เปิดเวทีสาธารณะในหัวข้อ ทางเลียบเจ้าพระยาสร้างสรรค์ หรือทำลาย โดยได้เชิญองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งจากการศึกษาและระดมความคิดจากหลายฝ่าย พบว่า โครงการนี้มีผลกระทบใหญ่หลวงต่อสาธารณะ สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ ศิลปวัฒนธรรม การคมนาคม รวมทั้งในด้านวิศวกรรมและผังมือง จากเหตุผลดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น สมัชชาแม่น้ำและเครือข่ายฯ ยังคงยืนยันจะคัดค้าน และเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี สั่งยุติโครงการเพื่อไม่ไห้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง พร้อมยืนยันหากว่า กทม.จะเดินหน้าก่อสร้างต่อไป ทางกลุ่มก็มีแผนการที่จะเดินหน้าคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพราะไม่ใช่ส่งผลกระทบกับทัศนียภาพ สิ่งแวดล้อม แต่จะส่งผลต่อไปยังอนาคตของลูกหลาน คนรุ่นต่อไป การก่อสร้างทำเป็นทางคอนกรีต จะทำให้แม่น้ำทั้ง 2 ฝั่งลดหายไปร่วม 20 เมตร จะส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำ แม้ในภาวะปกติ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นทันที น้ำไหลเร็วแรงขึ้น กัดเซาะตลิ่ง รวมถึงขยะ มูลฝอยจะไหลไปสะสมใต้ตอม่อ ที่สำคัญเอกลักษณ์ที่ต่างชาติและทั่วโลกมองเห็นคือสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ทั้งวิถีชีวิตความเป็นอยู่ วัดวาอารามที่จะถูกรบกวน บดบัง ความเป็นอยู่จะเปลี่ยนไปตลอดกาล

แม้ว่าล่าสุด กทม.จะลดทอนโครงการออกบางส่วน จากเดิม 14 กิโลเมตร เหลือ 12.45 กิโลเมตร เพื่อหลบพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เป็นการแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ยังศึกษาไม่รอบคอบและยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแม้แต่จากทางภาครัฐเองก็ตาม ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตามที่กล่าวมาจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อแม่น้ำเจ้าพระยาทุกด้านทั้งสิ่งแวดล้อมสังคม ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตริมน้ำ การคมนาคม ด้านสถาปัตยกรรม ผังเมือง และความสูญเสียต่อภัยพิบัติ