‘อภิชาติ’ ท้วง พ.ร.บ.จราจร ฉบับที่ 12 ปมเอาผิดนิติบุคคล หาก พนง.ขับรถทำผิด พร้อมจี้ ตร.เร่งประสานข้อมูล ขบ.

“สหพันธ์ขนส่งฯ” ร่วมถกประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายลำดับรอง พ.ร.บ.จราจร ฉบับที่ 12 จำนวน 3 ฉบับ หลัง สตช.หวังให้ถูกต้องตาม รธน. ด้าน “บิ๊กรถบรรทุก” ท้วงเอาผิดนิติบุคคล หากพนักงานขับรถทำผิด หวั่นสร้างภาระผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น พร้อมวอน ตร. เร่งประสานข้อมูล ขบ.

นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก ฉบับที่ 12 วันนี้ (20 พ.ย.2562) ว่า ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้จัดการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเพื่อให้การตรากฎหมายลำดับรอง ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก เป็นไปอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น หลังจากนี้ ตนในฐานะผู้ประกอบการขนส่ง จะต้องมีการศึกษาในแต่ละมาตราอีกครั้ง ว่ามีรายละเอียดอย่างไร โดยเฉพาะในส่วนของโทษปรับของนิติบุคคล เพราะเมื่อรถในสังกัดของบริษัททำผิดกฎจราจรได้รับใบสั่ง บริษัทต้องแจ้งชื่อผู้ขับรถให้เจ้าหน้าที่ทราบภายใน 30 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปออกใบสั่งใหม่กับบุคคลที่กระทำความผิด มิฉะนั้นบริษัทจะมีโทษปรับ 5 เท่า

“ผมได้ทักท้วงในที่ประชุมการประชาพิจารณ์ในเรื่องของการเอาผิดกับนิติบุคคล ผมขอยกตัวอย่างในกรณีของผู้ประกอบการรถบรรทุก ผมเองเป็นเจ้าของรถ แต่เวลาคนขับรถกระทำความผิด ดันมาเอาผิดกับเจ้าของรถ ซึ่งเรื่องนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรจะประสานข้อมูลกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่เขามีข้อมูล และรู้ว่าพนักงานขับรถทำความผิด และไปเอาผิดกับ จะปรับหรือจับกับพนักงานขับรถ ซึ่งผมมองว่าเป็นการพยายามออกกฎมาบังคับ แต่บริหารจัดการไม่ได้ และกลายเป็นภาระของผู้ประกอบการในที่สุด” นายอภิชาติ กล่าว

รายงานข่าว ระบุว่า กฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จราจรทางบก ฉบับที่ 12 จำนวน 3 ฉบับนั้น ได้แก่ มาตรา 140/2 ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการยึดใบอนุญาตขับขี่ และการระงับการใช้รถเป็นการชั่วคราว, มาตรา 142/5 ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ และมาตรา 142/1 และ 142/5 ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ