‘คมนาคม’ วางเป้าอุตสาหกรรมระบบราง ตั้งโมเดลปี 66 ต้องผลิตภายในประเทศเท่านั้น พร้อมคาดอีก 20 ปีต้องการ 1.2 หมื่นตู้

“คมนาคม” ลุยพัฒนาอุตฯ ระบบราง สนองนโยบาย “บิ๊กตู่-ศักดิ์ศยาม” หลังอัดงบลงทุนทางรางมหาศาล พร้องกางแผน 4 ระยะ ตั้งโมเดลระบุใน TOR ปี 66 ต้องผลิตภายในประเทศเท่านั้น สั่ง ขร. จัด Market Sounding ระดมกึ๋นรัฐ-เอกชน ก่อนทำแผนชัดเจน ด้าน “ชัยวัฒน์” เผยไทยต้องการรถไฟ 1.2 หมื่นตู้ ภายใน 20 ปีข้างหน้า

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางว่า กระทรวงคมนาคม ได้หารือร่วมกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบราง และอุตสาหกรรมอื่นๆ เกี่ยวเนื่อง พร้อมทั้งเพื่อความยั่งยืนในระบบรางของประเทศ ให้เป็นไปตามนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้มอบนโยบาย Thai First “ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้ก่อน” พร้อมมีข้อสั่งการให้ ขร. พิจารณาปรับระยะเวลาดำเนินการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางฯ ให้เร็วขึ้นสอดคล้องกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของรัฐบาลจำนวนมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นรูปแบบเฉพาะเช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมทางอากาศ ขณะเดียวกัน มอบหมายให้ ขร. ไปจัดสำรวจความสนใจ (Market Sounding) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนภายในปีนี้ ก่อนที่จะมีการจัดทำแผนรายละเอียดต่อไป นอกจากนี้ ยังให้การบ้านกับ BOI ไปพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ รองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้กำหนดแนวคิด พร้อมตั้งเป้าหมายแผนดังกล่าว โดยจะแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย 1.ภายในปี 2563 การจัดซื้อจัดจ้างและเปิดประมูลโครงการระบบรางทั้งหมด จะกำหนดให้มีการซื้อตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ หรือผู้ผลิตที่มีแผนจะลงทุนผลิตในประเทศเท่านั้นโดยเขียนระบุเป็นเงื่อนไขไว้ในร่างขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) 2.ภายในปี 2564 กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องประกอบชิ้นสุดท้ายในโรงงานภายในประเทศ 3.ภายในปี 2565 กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้าในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ โดยราคาของมูลค่าชิ้นส่วน (Local Content) จะต้องไม่น้อยกว่า 40% และ 4.ภายในปี 2566 เป็นต้นไป กำหนดให้การส่งมอบตู้รถไฟและตู้รถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง รวมถึงระบบอาณัติสัญญาณ ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐทั้งหมด จะต้องผลิตภายในประเทศทั้งหมด และต้องมีการผลิตชิ้นส่วนหลัก ที่เป็นสาระสำคัญ อาทิ ตัวรถ ตู้โดยสาร ห้องควบคุม ระบบช่วงล่าง โบกี้ ระบบห้ามล้อ ระบบเชื่อมต่อ ระบบไฟฟ้า เป็นต้น

สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวนั้น เพื่อให้เกิดพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงถึงมาตรฐานเทคโนโลยี กลไกภาครัฐ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ การพัฒนาบุคคลากรทางด้านระบบราง เนื่องจากตามแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟ ระยะ 20 ปี (M-Map) ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 – 2580 และแผนการจัดหารถจักรของ รฟท. พ.ศ.2562 มีการประมาณการณ์ความต้องการจำนวนตู้รถไฟในประเทศไทยภายใน 20 ปีข้างหน้ารวมประมาณ 12,000 ตู้ จากในปัจจุบันที่มีอยู่ 3,729 ตู้ โดยต้องวางแผนร่วมกับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลิตบุคลากร รวมทั้งพัฒนาบุคลากรที่มีอยู่ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบรางฯ ต่อไปในอนาคต รวมถึงเพื่อส่งออกไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม ด้านการส่งเสริมการลงทุนของ BOI นั้น จะให้สิทธิพิเศษด้านการยกเว้นภาษีการจัดตั้งโรงงานและสิทธิพิเศษด้านอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาก่อตั้งโรงงานใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมา และพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่น และได้เสนอให้พิจารณาพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี รวมถึงจังหวัดตามแนวเส้นทางระบบรางด้วย

“หลังจากนี้ ขร. จะต้องไปจัดสำรวจความเห็นของภาครัฐและเอกชนว่าทำได้ไหม และให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อดึงดูดใจให้นักลงทุนมาดำเนินการ ซึ่งแผนทั้ง 4 ระยะนั้น เป็นตุ๊กตาที่ตั้งไว้เท่านั้น ยังไม่ได้มีการสรุป โดยหลังจากสำรวจความเห็นถึงจะทราบว่าแผนจะเป็นอย่างไร เราจะต้องเอาตัวเลขความต้องการ 12,000 ตู้เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ว่านี่ คือ สิ่งที่เราอยากจะมี เพื่อให้เอกชนเข้ามาลงทุน” นายชัยวัฒน์ กล่าว