‘ศักดิ์สยาม’ ไม่บังคับติด ‘GPS’ รถยนต์ส่วนบุคคล-มอไซค์ ยัน ‘ภาคสมัครใจ’ หวังล้อมคอกอุบัติเหตุ-โจรกรรม

“ศักดิ์สยาม” แจงนโยบายรถยนต์ส่วนบุคคล-มอเตอร์ไซค์ติด “GPS” เป็นภาค “สมัครใจ” สั่ง ขบ.ศึกษารอบคอบก่อนตกผลึก พร้อมยันไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล-ราคาไม่แพง หวังล้อมคอกโจรกรรม-รักษาความปลอดภัย พ่วงลดอุบัติเหตุ พร้อมปิ้งไอเดียผนึกกำลัง “แฮกกาธอน” ร่วมออกแบบ-พัฒนาระบบ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายที่จะกำหนดให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของรถ (GPS) ว่า ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ไปศึกษาเพิ่มเติมถึงนโยบายการติด GPS ในรถยนต์ส่วนบุคคล หลังในเบื้องต้น พบว่า สามารถนำข้อมูลมาใช้ในด้านความปลอดภัย และการป้องกันการโจรกรรมด้วย นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ขบ.ไปพิจารณาว่า อุปกรณ์ GPS ในปัจจุบันที่มีราคาถูก รวมถึงรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีระบบ GPS อยู่แล้วนั้น หากต้องการเชื่อมข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยมีการกำหนดรหัสผู้ใช้งาน และรหัสผ่าน สามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนโยบายดังกล่าวนั้น ถือเป็นการนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และไม่ได้มีการบังคับ แต่ในเบื้องต้นจะเริ่มจากภาคสมัครใจ ทั้งนี้ ยืนยันว่าข้อมูล GPS นั้น ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะที่เปิดเผยทั่วไป และไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย

“ในส่วนของประโยชน์ของผู้ที่ติดตั้งระบบ GPS บนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล ตอนนี้ระบบไปถึงขั้นที่จะช่วยลดอุบัติเหตุได้ เพราะถ้า GPS เชื่อมต่อกันได้ สามารถเว้นระยะห่างของรถได้เลย รวมไปถึงขั้นไม่สามารถสตาร์ทรถได้ ถ้าไม่ได้ขับรถ ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่ในรถรุ่นใหม่ในตอนนี้ และหากรถที่ยังไม่มีและจะติดตั้ง โดยเรากำลังดูถึงเทคโนโลยีที่มีราคาต่ำหรือมีราคาหลักร้อย ซึ่งทำแบบนี้ได้ด้วย เพียงแค่นำอุปกรณ์มาเชื่อมกับซอฟต์แวร์ที่เราพัฒนาขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมกับสัญญาณจราจรได้ด้วย ยืนยันว่าในเรื่องของค่าใช้จ่ายนั้น มีราคาถูกมากๆ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า การติด GPS ในขณะนี้ มี 2 รูปแบบ กล่าวคือ 1.ในส่วนที่ไม่มีค่าบริการรายเดือนนั้น ขบ.จะต้องติดต่อไปยังผู้ใช้บริการ ซึ่งจะไม่มีการรายงานในทันที (Real Time) ขณะเดียวกัน หากต้องการใช้ข้อมูลหรือการรายในทันทีนั้น จะต้องใช้สัญญาณจากโทรศัพท์มือถือ โดยตอนนี้ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับภาคโทรคมนาคม สอดคล้องกับสหภาพยุโรป (EU) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้ดำเนินการแล้ว ในส่วนของข้อกังวลของประชาชน ทั้งการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ค่าใช้จ่ายที่อาจจะเพิ่มขึ้น และการใช้ประโยชน์นั้น ในปัจุบันยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา โดยยืนยันว่า เป็นการดำเนินการเพื่อความปลอดภัย ทั้งยังไม่กระทบกับประชาชน และเป็นภาคสมัครใจ นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ ขบ. ไปหารือร่วมกับกรมการประกันภัย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมมือกับบริษัทประกันต่างๆ ด้วย

อย่างไรก็ตาม ได้มีการวางแผนนำบุคลากรที่เข้าร่วมกิจกรรม แฮกกาทอน (Hackathon) หรือการสร้างนวัตกรรม ระบบ ซอฟต์แวร์แบบเร่งด่วน รวมถึงบุคลากรที่จบการศึกษาทางด้านวิศวกรรม และอาชีวะ มาช่วยออกแบบและพัฒนาระบบมาใช้ในการดำเนินการ เชื่อมต่อกับระบบขนส่ง พร้อมทั้งระบบการป้องกัน เพื่อความปลอดภัย และการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน