‘ศักดิ์สยาม’ สั่ง ขบ.ศึกษาบังคับรถยนต์ส่วนบุคคล-มอเตอร์ไซค์ติด GPS พร้อมผุดสินบนนำจับ แจ้งรถทำผิด กม.

“ศักดิ์สยาม” เล็งบังคับรถส่วนบุคคล-มอเตอร์ไซค์ติด GPS จ่อหารือร่วม ก.อุตฯ ใช้รถใหม่ทุกคัน-รถเก่าทยอยปรับ หวังล้อมคอกอุบัติเหตุ ลั่นชัดเจนภายใน 1 ปี คุยโวประเทศแรกในโลก พร้อมไอเดียบรรเจิด มอบสินบนนำจับรถทำผิด กม. คาดมีผลเดือนหน้า

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ว่า ได้สั่งการให้ ขบ. ไปดำเนินการศึกษาต่อยอดการใช้ GPS กับรถยนต์ส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ จากที่ในปัจจุบันได้ดำเนินการกับรถ 4 ประเภท ได้แก่ รถบรรทุก รถตู้โดยสาร รถรับจ้างสาธารณะ และรถโดยสารขนาดใหญ่ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และการก่ออาชญากรรมด้วย

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ขบ. จะไปดำเนินการประเมินประโยชน์ รวมถึงราคาระบบการติดตั้ง GPS การรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน กฏหมายสิทธิส่วนบุคคล พร้อมทั้งหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมภายในเดือนนี้ ถึงแนวทางการดำเนินการ และระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรมภายใน 1 ปีนับจากนี้ โดยในเรื่องดังกล่าว หากไทยสามารถดำเนินการได้เต็มระบบนั้น จะถือเป็นประเทศแรกในโลกด้วย

“ได้มอบหมายให้ ขบ. ไปหารือร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมให้ติดตั้ง GPS กับรถใหม่ตั้งแต่ออกจากโรงงาน เนื่องจากจะต้องใช้กฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการบังคับใช้ด้วย รวมถึงดำเนินการศึกษาเรื่องของอุปกรณ์และบริการหลังติดตั้งให้มีราคาถูกลง ส่วนรถเก่าที่ยังไม่ได้ติดตั้งก็จะพยายามดำเนินการหามาตรการบังคับใช้ นอกจากนี้ต้องดำเนินการศึกษากฎหมายว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ โดยหากทำได้เต็มระบบจะสามารถลดอุบัติเหตุได้เยอะมาก พร้อมย้ำว่าวิธีการตั้งด่านสกัดกั้นปัจจุบันเป็นการแก้ไขที่ปลายทาง” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ ขบ. ไปศึกษาระเบียบกฎหมายในการแบ่งสินบนนำจับให้กับประชาชนที่มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการกระทำความผิดของผู้ใช้รถผิดกฎหมาย และนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้มีการนำจับ แต่ต้องการให้มีการช่วยกันเฝ้าระวัง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ ผู้ขับขี่ และประชาชน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายใน 1 เดือน

“จริงๆ เรามีกฎหมายเรื่องให้สินบนนำจับ แต่เราไม่ได้เอามาใช้อย่างเป็นรูปธรรม จึงให้ ขบ.ไปศึกษาว่าเวลาประชาชนถ่ายรูปผู้กระทำความผิดส่งมา จะต้องส่งอะไรมาบ้าง ดำเนินคดีขนาดไหน เช่น รถขนาดใหญ่ที่ปรับผู้ประกอบการ 50,000 บาท ถ้าแบ่ง 10% ก็ได้ 5,000 บาท ยืนยันว่าไม่ต้องการให้ไล่จับ แต่ต้องเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัย และการทำถูกกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนนั้น ประชาชนถ่ายรูปส่งมาที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของ ขบ. จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการต่อไป” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า สำหรับเรื่องติด GPS รถยนต์และรถ จยย. ต้องไปศึกษา เพื่อนำอุปกรณ์มาติดตั้งอย่างเหมาะสมก่อนมาปฏิบัติต่อไป โดยต้องพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ กฎหมายอุตสาหกรรม การผลิตรถ ข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลว่าสามารถเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึงกฎหมาย ขบ. ทั้งในส่วนของการติด GPS พ.ร.บ.จราจร รวมทั้งการศึกษาว่าหากมีผลบังคับใช้แล้ว ไม่มีการปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไรด้วย ตลอดจนการตัดแต้มใบขับขี่ โดยใช้เวลาศึกษา 2 เดือน สำหรับสถิติจดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนสะสมทั่วประเทศ ณ วันที่ 30 ก.ย.62 พบว่า มี 9,868,532 คัน ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลมี 6,748,316 คัน, รถยนต์นั่งเกิน 7 คน มี 422,143 คัน และ รถ จยย. มี 21,130,663 คัน