‘บิ๊กตู่’ แจงงบปี 63 ‘คมนาคม’ เสนอขอรับจัดสรร 1.78 แสนล้าน พร้อมกางแผนพัฒนาคมนาคม-โลจิสติกส์ 9.73 หมื่นล้าน

“บิ๊กตู่” แจงงบปี 63 “คมนาคม” เสนอขอรับจัดสรร 1.78 แสนล้าน หลังถูกหั่นลง 758 ล้าน พร้อมกางแผนพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ 9.73 หมื่นล้าน เชื่อมโยง “บก-น้ำ-ราง-อากาศ”

รายงานข่าวจากรัฐสภา ระบุว่า วันนี้ (17 ต.ค.2562) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำเสนอหลักการของร่าง พ.ร.บ.ในระหว่างเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าวนั้น กระทรวงคมนาคมเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณวงเงิน 178,840,078,400 บาท ถูกปรับลดลง 758,572,900 บาท

สำหรับยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้กำหนดไว้ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ โดยได้นำยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติมากำหนดเป็นกรอบโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคมนั้น เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน กล่าวคือ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายไว้เป็นจำนวน 380,803.1 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.9% ของวงเงินงบประมาณ เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างยั่งยืน สมดุลและมีเสถียรภาพ

โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ พัฒนาเขตพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและเขตเศรษฐกิจพิเศษ การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว การพัฒนาผู้ประกอบการ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล การพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต พัฒนาภาคเกษตรสร้างมูลค่า การพัฒนาความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล การพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม

ทั้งนี้ หากจำแนกตามแผนงานนั้น สรุปได้ดังนี้ 1.การพัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ งบประมาณทั้งสิ้น 97,389 ล้านบาท โดยการเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศให้ทั่วถึงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ มีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 2 สายทาง ขยายช่องจราจรทางหลวงแผ่นดิน แก้ไขปัญหาการจราจรในปริมณฑลและภูมิภาค ยกระดับทางหลวงชนบท รถไฟความเร็วสูง ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย และรถไฟทางคู่ช่วงลพบุรี- ปากน้ำโพ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และนครปฐม-ชุมพร นอกจากนี้ ยังเตรียมการสำรวจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเวนคืนที่ดินสำหรับการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ได้แก่ สาย เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และสายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร เพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ และปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำและท่าเรือชายฝั่งทะเล พัฒนาท่าอากาศยาน ในภูมิภาค 29 แห่ง ตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) รวมทั้งเชื่อมโยงการค้าสู่รูปแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

2.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก งบประมาณทั้งสิ้น 17,009.1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา และพื้นที่เกี่ยวเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการลงทุนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี และเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ต่อปี โดยพัฒนาและขยายศักยภาพโครงสร้าง พื้นฐานด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ ที่เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งในทุกมิติแบบไร้รอยต่อ ได้แก่ พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งทางถนนไม่น้อยกว่า 500 กิโลเมตร ก่อสร้างสถานีรถไฟอู่ตะเภา เตรียมพื้นที่สำหรับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน พัฒนาปรับปรุงร่องน้ำและท่าเทียบเรือ และพัฒนาพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา ส่งเสริมการพัฒนาเมืองในรูปแบบเมืองอัจฉริยะ จัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลแห่งอนาคต รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร ด้านการวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 50,000 คน รวมทั้งจัดทำมาตรการในการดูแลและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับชุมชน

3.การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ งบประมาณทั้งสิ้น 6,954.6 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษให้เป็นศูนย์กลาง ความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มมูลค่าการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 แห่ง โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวในพื้นที่ อาทิ ก่อสร้างและขยายช่องจราจรทางหลวง และทางหลวงชนบท พัฒนาด่านศุลกากร ด่านสินค้าเกษตรชายแดน การวางผังเมือง การเพิ่มประสิทธิภาพการบริการคนเข้าเมืองและรักษาความปลอดภัย