รฟท. จ่อถกร่วม ‘คมนาคม’ เตรียมยื่นศาลฯ ของดการบังคับคดี ก่อนถึงดีลจ่ายเงิน 2.5 หมื่นล้าน 19 ต.ค.นี้

บอร์ด รฟท. ชุดใหม่สุดฟิต ถกนัดแรก พร้อมมอบ “อาณาบาล รฟท.” หารือร่วม “คมนาคม” คดีโฮปเวลล์ ลุยยื่นของดการบังคับคดี ก่อนถึงวันครบจ่ายเงิน 2.5 หมื่นล้าน 19 ต.ค.นี้ พ่วงฟ้องแพ่ง หลังพบหลักฐานบริษัทต่างด้าว ด้านสังคม คาใจผ่านมา 20 ปีทำไมเพิ่งมีการตรวจสอบ

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงกรณีโฮปเวลล์ว่า ในการประชุมบอร์ด รฟท.ชุดใหม่นัดแรกนั้น นายวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่า รฟท. ได้รายงานข้อมูลภายหลังคณะทำงานที่มีนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพบ และมีการพบหลักฐานใหม่ โดยมอบหมายให้ รฟท. ไปดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแพ่งและพาณิชย์ ในประเด็นการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในประเทศไทย ซึ่ง บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ได้ดำเนินการขอและได้รับการยกเว้น ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 (ปว. 281)

ในส่วนของคดีโฮปเวลล์ที่ศาลตัดสินแล้ว โดยมีกำหนดให้จ่ายค่าชดเชยมูลค่ารวมประมาณ 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 12,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 13,000 ล้านบาท ที่จะครบกำหนดในวันที่ 19 ต.ค.นี้นั้น ได้มอบหมายให้อาณาบาล รฟท. ไปหารือร่วมกับกระทรวงคมนาคม ในฐานะคู่สัญญาร่วมกัน ก่อนเตรียมยื่นของดการบังคับคดีต่อศาลปกครองสูงสุด ภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้ เพื่อขอให้ศาลฯ คุ้มครองชั่วคราวและชะลอการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าวออกไป อย่างไรก็ตาม หากศาลไม่รับการพิจารณานั้น รฟท. ก็พร้อมมี่จะดำเนินการตามกระบวนการคำสั่งของศาลต่อไป

นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ต.ค. 2562) เวลา 9.00 น. บอร์ด รฟท. จะมีการประชุม เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,600 ล้านบาท

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า โครงการโฮปเวลล์ผ่านมาแล้วมากกว่า 20 ปี จึงเป็นที่คาใจว่าเหตุใด รฟท.จึงปล่อยให้บริษัทที่มีต่างด้าวถือหุ้นเกิน เข้ามารับโครงการใหญ่มูลค่านับหมื่นล้านบาท โดยไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจน ถือเป็นความหละหลวมที่เสี่ยงต่อผลประโยชน์รัฐ เนื่องจากปัจจุบันรฟท.มีงานก่อสร้างระบบรางหลายสายทั้ง รถไฟทางคู่ รถไฟไฮสปีดไปจนถึงงานพัฒนารถไฟสายต่างๆ เป็นที่น่าสนใจว่าได้มีการตรวจสอบบริษัทที่เข้ามาประมูลหรือบริษัทที่ได้รับงานมากน้อยแค่ไหน เพราะอาจนำไปสู่ผลประโยชน์ทับซ้อนจนกลายเป็นค่าโง่ในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ประธานบอร์ด รฟท. คนปัจจุบัน ยอมรับว่ากรณีโฮปเวลล์ไม่มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจริง เป็นเรื่องสมัยหลายสิบปีมาแล้ว ซึ่งยุคนั้นอาจเกิดข้อผิดพลาดได้