‘อนุทิน’ นั่งหัวโต๊ะประชุมรถไฟฟ้าสายสีส้ม มอบ ‘ศักดิ์สยาม’ ถกเพิ่มอีก 2 สัปดาห์ ก่อนเคาะรูปแบบการดำเนินการ

“อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะประชุมรถไฟฟ้าสายสีส้ม พร้อมมอบ “ศักดิ์สยาม” ถกเพิ่มอีก 2 สัปดาห์ ก่อนเคาะรูปแบบการดำเนินการ วางโจทย์ความสำคัญ “ประชาชน-รัฐ-เอกชน” ฟากไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน สั่งทำรายงานเสนอ “บิ๊กตู่” ขู่พ้นกรอบเวลา 7 พ.ย. 62 จ่อเชือดคณะกรรมการคัดเลือกฯ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฝั่งตะวันตก บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย วงเงิน 1.28 แสนล้านบาทว่า ในวันนี้ (25 ก.ย. 2562) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มาประชุมร่วมกันถึงโครงการดังกล่าว เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบการดำเนินการ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกระทรวงการคลังได้ให้ความเห็นว่าหากรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการในส่วนของงานโยธาเอง จะทำให้มีมูลค่าของโครงการที่ถูกลง โดยเฉพาะในส่วนของอัตราดอกเบี้ย โดยหลังจากนี้จะต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อหาข้อสรุปอีกครั้ง โดยนายอนุทินได้ให้เวลาอีก 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งมอบหมายให้ตนเป็นประธาน และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาสรุปว่าจะใช้วิธีการดำเนินการรูปแบบใด

สำหรับการดำเนินการโครงการดังกล่าวนั้น จะต้องตอบโจทย์ 3 กลุ่มหลัก คือ 1.ประชาชนจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด 2.รัฐจะต้องไม่เสียเปรียบ และ 3.เอกชนที่มาลงทุนจากรัฐจะต้องมีผลประกอบการที่ดำเนินการได้ โดยให้ความสำคัญตามลำดับที่กล่าวข้างต้น และจะต้องตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

“โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะต้องสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เพราะจะมีผลผูกพันธ์กับการดำเนินการในโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ อีก ซึ่งควรจะเป็นโมเดลกันหมด เพราะว่าถ้ารัฐมีเงินก็ไม่ต้องให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ถ้ารัฐไม่มีเงินก็ต้อง PPP แต่จะต้องมาดูว่าจะPPP ทั้งหมด หรือรัฐสร้างโครงสร้างเอง และ PPP เฉพาะในส่วนของการเดินรถ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ว่า ได้มีการเสนอในที่ประชุมให้มีการนำข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request For Proposal :RFP)มาทำเป็นตารางเพื่อให้ทราบว่าในรายละเอียดแต่ละข้อเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายใดให้ชัดเจน ด้านการเจรจานั้น ผลออกมาเป็นอย่างไรได้ข้อสรุปยุติหรือไม่ ก็ให้มีการนำเสนอนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เพื่อที่จะจัดทำรายงานการประชุมเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะกรรมการ EEC ต่อไป

โดยในเบื้องต้นการเจรจาร่วมกับทางกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ต่อ แต่ก็ได้มีการตั้งข้อสังเกตก่อนหน้านี้ไปในหลายเรื่องว่าอย่าไปเจรจาในสิ่งที่ไม่ได้อยู่ใน RFP ซึ่งยังมีติดปัญหาอยู่บ้างโดยที่ทางเอกชนอ้างว่าไม่เห็นรายละเอียดเรื่องส่งมอบพื้นที่เกี่ยวกับการรื้อถอนสาธารณูปโภคที่มีปรากฏชัดอยู่ในเอกสาร RFP อยู่แล้วและเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่แล้วและได้มีการให้เวลาเอกชนไปศึกษารายละเอียดในเอกสารก่อนที่จะตัดสินใจยื่นเสนอราคา

อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในวันที่ 27 ก.ย. 2562 และจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) พิจารณาในวันที่ 30 ก.ย.นี้ ซึ่งทางคณะกรรมการคัดเลือกฯจะต้องไปชี้แจงอธิบายรายงาน พร้อมทำหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) หรือผู้ยื่นข้อเสนอมาลงนามสัญญาในวันที่ 15 ต.ค. 2562 โดยมีเงื่อนเวลาที่การยืนยันราคาจะครบกำหนดในวันที่ 7 พ.ย.นี้ หากพ้นเวลายืนยันราคาดังกล่าวแล้วยังไม่สามารถสรุปจบได้ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯจะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้ เนื่องจากส่งผลให้เสียหายต่อประเทศมหาศาล เพราะที่ผ่านมามีต่างชาติเช่นทางญี่ปุ่นได้เข้ามาสอบถามเกี่ยวกับความคืบหน้าภาพรวมของโครงการที่อยู่ในแผน EEC เป็นอย่างไรเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในแผนการลงทุนต่อไป