‘ศักดิ์สยาม’ เร่ง รฟท. ประมูลงาน’ไฮสปีดไทย-จีน’ 14 สัญญา ครบจบภายในสิ้นปีนี้

“ศักดิ์สยาม” สั่ง รฟท. เร่งประมูลงานรถไฟไฮสปีดไทย-จีน 1.79 แสนล้านให้จบภายในสิ้นปีนี้ วางเป้าเปิดให้บริการปี 66 ตามแผน พร้อมขยายเวลา 120 วันพ่วงเพิ่มวงเงินสัญญา 2.3 งานระบบอีก 1.2 หมื่นล้านบาท อัพเกรดเป็นรถรุ่นใหม่ ลุยเร่งเวนคืนพื้นที่ 2,800 ไร่ 1.3 หมื่นล้านบาท ฟากครม.เคาะไฟเขียวลงทุน 751 ล้านบาท ศึกษา 19 เดือนไฮสปีดไทย-จีนเฟส 2 ช่วงโคราช-หนองคาย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (คบร.) ครั้งที่ 5/2562  ว่า ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน เพื่อให้สามารถดำเนินการเปิดให้บริการในปี 2566 ตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมีข้อห่วงใยในส่วนของปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการ 7 ข้อ ได้แก่ 1.มอบหมายให้ รฟท.ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน พ.ศ. …. เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก่อนที่ รฟท. จะดำเนินการเวนคืนที่ดินและจัดกรรมสิทธิ์ต่อไป โดยมีเป้าหมายจำนวนกว่า 2,800 ไร่ วงเงิน 1.3 หมื่นล้าน และมอบหมายให้ไปพิจารณาพื้นที่ในจำนวนดังกล่าว เพื่อทำประโยชน์ให้กับประชาชน อาทิ พัฒนาเป็นพื้นที่เคหะฯ

2.ขอความอนุเคราะห์กองทัพบกในการจัดตั้งสำนักงานและการใช้พื้นที่สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยกำหนดกรอบเวลาให้ รฟท.สรุปภายใน 1 เดือน 3.เร่งพิจารณาผลการประกวดราคา ให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยได้สั่งการให้ รฟท. ตรวจผลงาน และเอกสาร ก่อนที่จะประกาศผล เพื่อไม่ให้เสียเวลาหากมีข้อท้วงติงต่างๆ ตามมา 4.เร่งประกาศประกวดราคาสัญญา 4-4 (ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย) ภายในต้นเดือน ก.ย. 2562 และดำเนินการเอกสารประกวดราคาสัญญา 4-1 (ช่วงบางชื่อ-ดอนเมือง) ภายใน ก.ย.นี้

ขณะที่ข้อ 5.ตั้งคณะกรรมการเจจากับฝายจีน เพื่อให้ได้ข้อยุติของสัญญา 2.3 (สัญญาระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งขบวนรถและการฝึกอบรมบุคลากร) ก่อนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจร่างฉบับสุดท้าย หลังจากมีความกังวลใน 12 ข้อ ก่อนที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขาฯ ไปพิจารณากรอบการดำเนินงานต่างๆ เพื่อประโยชน์ของทั้ง 2 ประเทศ 6.ดำเนินการขยายระยะเวลาดำเนินงานสัญญา 2.3 (รอบที่3)  ให้อยู่ในกรอบเวลา 120 วัน จากเดิมที่หมดระยะเวลาไปแล้วเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2562 ขยายไปถึง 31 ธ.ค. 2562 เนื่องจากยังมีเงื่อนไขอีกหลายข้อที่ ต้องเจรจาร่วมกัน โดยจะต้องเจรจาแล้วเสร็จพร้อมลงนามภายในเดือน พ.ย. นี้ ก่อนที่จะมีการจัดงานประชุมอาเซียนซัมมิทที่ประเทศไทย ซึ่งจะมีผู้นำรัฐบาลจีนเข้าร่วมด้วย

ในส่วนของข้อ 7.ดำเนินการทบทวนและเสนอเรื่องการปรับกรอบวงเงินสัญญา 2.3 จากเดิม 38,558 ล้านบาท เป็น 50,633 ล้านบาท แบ่งเป็น การโยกงบก่อสร้างมาใช้ในสัญญางานระบบ 7,000 ล้านบาท การเปลี่ยนรุ่นตัวรถไฟไฮสปีดเป็นรุ่นใหม่ 3,400 ล้านบาทและการปรับรูปแบบรางบางส่วนอีกราว 1,600 ล้านบาท สำหรับการโอนย้ายเนื้องาน อาทิ การก่อสร้างโรงงานเชื่อมรางรถไฟไฮสปีด การจัดซื้อรถไฟซ่อมบำรุงและการจัดซื้อรถตรวจสอบสภาพรางเป็นต้น ส่วนตัวรถไฟไฮสปีดจะปรับเปลี่ยนจากรุ่นเดิมซึ่งใกล้จะตกรุ่นในจีนแล้วมาเป็นตัวรถไฟเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง Fuxing ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสาร 594 คน/ขบวน มีเสียงดังขณะเคลื่อนที่ 1-3 เดซิเบล ใช้ความเร็ว 250 กม./ชม.

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

 

*** ประมูลครบ 14 สัญญาภายในสิ้นปีนี้ ***

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนด้านการเปิดประมูลงานก่อสร้างนั้น ตนได้สั่งการให้เปิดประมูล ทั้ง 14 สัญญา มูลค่ารวม 179,000 ล้านบาทภายใน ธ.ค. 2562 เพื่อเร่งรัดให้งานก่อสร้างและงานระบบเปิดใช้ตามกำหนดในปี 2566 สอดคล้องกับรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่การก่อสร้างใกล้เสร็จแล้ว โดยจากการรายงานของ รฟท. พบว่า ขณะนี้ ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2 สัญญา อยู่ระหว่างการเห็นชอบผลประมูล 5 สัญญา และอยู่ระหว่างเปิดประมูล 5 สัญญา ส่วนสัญญาที่ยังไม่ได้เข้าสู่การประมูล เนื่องจากยังติดปัญหา 2 สัญญา แบ่งเป็น 1.สัญญางานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงที่เชียงรากน้อย วงเงิน 6,100 ล้านบาท โดยได้เร่งรัดให้ประมูลภายในเดือน ก.ย.นี้ 2.งานก่อสร้างช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง วงเงิน 10,000 ล้านบาทนั้น ต้องชะลอการประมูลออกไปเป็นช่วงไตรมาสุดท้ายของปี 2562 เพื่อรอเจรจากับกลุ่มซีพีเพราะต้องใช้โครงสร้างเดียวกันกับรถไฟโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน แบ่งเป็น ระดับรางข้างบนและระดับรางข้างล่าง วิ่งแยกระบบกัน ดังนั้น จึงต้องให้กลุ่มซีพีออกเงินค่าโครงสร้างร่วมระบบให้ก่อนแล้ว รฟท.จ่ายเงินคืนทีหลัง ทั้งนี้ คาดว่าโครงการรถไฟไฮสปีดอีอีซีจะลงนามได้ในวันที่ 9 ก.ย.นี้

สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ที่ ครม.ได้มีมติไปเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2562 อนุมัติงบกลางวงเงิน 751 ล้านบาท ให้ รฟท.ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดงานโยธาฯ โดยกำหนดระยะเวลาศึกษา 19 เดือน ซึ่งปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างดำเนินการจัดเตรียมเอกสารดำเนินการจ้างที่ปรึกษา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ เพื่อเชื่อมโยงด้านรถไฟไทย-ลาว-จีน ซึ่งได้มีการประชุมเมือวันที่ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยจะมีการประชุมฝ่ายเพื่อหารือในรายะเอียดในการดำเนินงานต่อไป ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการฯ จำนวน 4 คณะ โดยมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเสนอร่างคำสั่งแต่งตั้งต่อตน เพื่อลงนามในคำสั่งแต่งตั้งต่อไป