DITP ประกาศผลการแข่งขัน”แฮกกาธอน”

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยผลการแข่งขัน “แฮกกาธอน : เปิดวาร์ปเส้นทางการค้าด้วยดาต้าทั่วหล้าฟ้าดิน” ได้ผู้ชนะการประกวด 3 ทีม รับเงินรางวัลรวม 160,000 บาท เตรียมนำโมเดลที่เสนอไปพัฒนาระบบข้อมูล Big Data สร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการไทย

นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยถึงผลการจัดการแข่งขัน “แฮกกาธอน” (Hackathon) : เปิดวาร์ปเส้นทางการค้าด้วยดาต้าทั่วหล้าฟ้าดิน” ว่า ขณะนี้ได้สุดยอดทีมที่เป็นเลิศ สามารถออกแบบโมเดลการใช้ข้อมูล Big Data เพื่อค้นหาโอกาสในการค้าระหว่างประเทศ ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้วจำนวน 3 ทีม จากที่มีผู้สมัครเข้าประกวดทั้งสิ้น 15 ทีม โดยทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง คือ ทีม “Rial and Friends” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่ง ทีม “Salted egg” จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง ทีม “คิดไม่ออกบอกสาม” จากธนาคารไทยพาณิชย์ โดยจะได้รับเงินรางวัลรวม 160,000 บาท ดังนี้ ทีมชนะเลิศ 80,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 50,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 30,000 บาท

ทั้งนี้ การจัดแข่งขันดังกล่าวกรมฯ ได้ร่วมมือกับบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด จัดการแข่งขันเพื่อเปิดโอกาสให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมเสนอแนวทางในการออกแบบโมเดลทางเทคนิคเพื่อการเก็บรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงพัฒนาระบบคลังข้อมูลแบบมาตรฐานด้วยปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการบริการด้านการค้าระหว่างประเทศของกรมฯ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

สำหรับรายละเอียดผลงานของแต่ละทีมที่ชนะการประกวด ทีม “Rial and Friends” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอหัวข้อเรื่อง การนำข้อมูลการค้าระหว่างประเทศมาวิเคราะห์ตามพันธกิจของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาโอกาสและเพิ่มศักยภาพสินค้าในการส่งออก โดยมีรูปแบบการทำงาน คือ การขยายช่องทางการตลาดแก่สินค้าและบริการของไทย พร้อมแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลสถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศและดูสินค้าที่ส่งออกไปยังประเทศนั้น ดูความต้องการของสินค้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงทุกประเทศหรือเฉพาะประเทศไทย เพื่อแสวงหาโอกาสและเพิ่มศักยภาพสินค้าในการส่งออก

ส่วนทีม “Salted egg” จากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ เสนอหัวข้อเรื่อง การนำเสนอข้อมูลการค้าระหว่างประเทศ การขยายตัวของการส่งออก สินค้าศักยภาพและวัฏจักรของสินค้า โดยจะดูอัตราการขยายตัวการส่งออกของไทย และนำมาเปรียบเทียบกับสินค้าศักยภาพ โดยจัดกลุ่มตาม HS Code 4 digits และดูวัฏจักรการหดตัวและขยายตัวของแต่ละประเทศนำมาเปรียบเทียบกับแนวโน้มของตลาดโลก พร้อมแนะนำตลาดและสินค้าที่ควรจะมีการส่งออก และสินค้าที่นำเข้าจากทั่วโลกเยอะแต่นำเข้าจากไทยน้อยจะมีวิธีการเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้า

ขณะที่ทีม “คิดไม่ออกบอกสาม” จากธนาคารไทยพาณิชย์ เสนอหัวข้อเรื่อง นำข้อมูลการส่งออกสินค้าไปยังประเทศต่างๆ โดยการใช้ GDP และ Community Trade และใช้ Predictive Model เพื่อพยากรณ์เหตุการณ์การส่งออก โดยจะนำข้อมูลสินค้าส่งออกของประเทศไทยแต่ละปีที่มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสูง พร้อมคัดเลือกสินค้าศักยภาพ และหาประเทศคู่ค้าของไทย เพื่อการวางกลยุทธ์ในการส่งออก และเปรียบเทียบกับ Supply ของประเทศแล้วสรุปออกมาเป็นคะแนนเพื่อใช้ในการตัดสินใจ

“กรมฯ จะนำไอเดียและแนวคิดที่ได้จากผู้ชนะการแข่งขันไปใช้ในการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล พร้อมสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้าน Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในแต่ละสาขา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการให้บริการข้อมูลด้านการค้าระหว่างประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกอบการไทยต่อไป”