วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ตั้งขึ้นเพื่อเป็นวิทยาลัยต้นแบบด้านโลจิสติกส์ เพื่อการผลิตนักปฏิบัติอย่างมืออาชีพ โดยดำเนินการจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งถือว่าเป็นวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแห่งแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งหมด

ผศ.ดร.คมสัน โสมณวัตร คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่าวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้จัดการศึกษา ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งอยู่ในหลักสูตรการบริหารธุรกิจทั้ง 3 ระดับ แรกเริ่มได้เปิดการศึกษาในระดับปริญญาโทเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเปิดปริญญาตรี และปริญญาเอก โดยหลักสูตรปริญญาตรี จะมี 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรภาคปกติ และหลักสูตรภาคพิเศษ โดยหลักสูตรปกติจะมีหลายสาขาได้แก่ สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ และสาขาการจัดการซัพพลายเชนธุรกิจ แต่ได้แตกแขนงเป็นแขนงธุรกิจพาณิชยนาวี แขนงการจัดการการขนส่ง แขนงการจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ การจัดการโลจิสติกส์หลักสูตรภาษาอังกฤษ และปีนี้ได้เปิดสาขาการจัดการโลจิสติกส์สำหรับธุรกิจออนไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่กำลังมาแรงในขณะนี้

ซึ่งสอดคล้องกับมหาวิทยาลัยที่ต้องปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง และตอบโจทย์ภาคธุรกิจ นักศึกษาที่จบปริญญาตรีด้านโลจิสติกส์ที่นี่ จะเน้นการทำงานได้จริง เน้นการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ที่ผ่านมามีการลงทุนซื้อเทคโนโลยีเพื่อสร้างความคุ้นเคยให้กับนักศึกษาตั้งแต่เรียน เช่น ซื้อระบบจีพีเอสติดตามรถขนส่ง ซึ่งเป็นการติดตามจริงจากรถของเครือข่ายที่ได้เข้ามาทำความร่วมมือกัน นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการของจริง มีคลังสินค้าที่ทำงานจริงให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ด้วยความพร้อมดังกล่าวการตอบรับของนักศึกษาถือว่าดี โดยเฉพาะด้านพาณิชยนาวีกับสาขาการจัดการโลจิสติกส์ที่ผู้เรียนให้ความสนใจในอันดับต้น ส่วนการจัดการขนส่งสินค้าทางอากาศ เริ่มมีการให้ความสนใจมากขึ้นเช่นกัน “จุดแข็งของสวนสุนันทา คือมีความพร้อมเรื่องอาคารสถานที่ สื่อการสอน และห้องปฏิบัติการทันสมัยเรียนรู้ได้จริง เราจึงชูวิสัยทัศน์ว่านักศึกษาที่จบที่นี่สามารถทำงานได้ เป็นนักปฏิบัติ เน้นการเรียนควบคู่กับการทำงาน ในสถานประกอบการ บางหลักสูตรทำงาน 5 วัน เรียน 2 วันก็มี” ผศ.ดร.คมสัน กล่าว

การที่วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สวนสุนันทา มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับการตอบรับจากนักศึกษในการเข้ามาเรียน นอกจากมีความพร้อมหลายๆ ด้านแล้ว การมีเครือข่ายที่แข็งแกร่ง ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งในการช่วยสนับสนุนการเติบโต ซึ่งเรื่องนี้ ผศ.ดร.คมสัน สะท้อนว่าการบริหารงานของตนได้ให้ความสำคัญในการสร้างเครือข่าย ที่ผ่านมาได้ทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการหลายแห่งมาก ไม่ว่าจะเป็นสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวกับโลจิสติกส์ ส่วนของบริษัทเอกชน เช่น ไทยเบฟ ดับเบิ้ลเอ เอสซีจี เป็นต้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้ช่วยในเรื่องการจัดการการเรียนการสอน เช่น มีการนำเทคโนโลยี นำโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้

“ตอนนี้กำลังหารือกับเคอรี่เอ็กซ์เพรส และเฟลช เอ็กซ์เพรส ว่าเราจะร่วมมือด้านไหนกันได้บ้าง เพราะเราได้เปิดหลักสูตรใหม่ ด้านธุรกิจออนไลน์ ซึ่งการร่วมมือกันต้องมากกว่าการเปิดจุดให้บริการ อาจจะมองถึงการเปิดเป็นศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทเหล่านี้ และมีนักศึกษาของเราไปฝึกงาน” ผศ.ดร.คมสัน กล่าวถึงสาขาใหม่ที่จะเปิดในปีนี้ ส่วนระดับปริญญาโท เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิมยมจากผู้เรียนมามากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน จุดแข็งของระดับปริญญาโท คืออาจารย์ที่สอนจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงของวงการ

อีกทั้งมีการดูงานต่างประเทศ นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้ประสบการณ์จริง สามารถต่อยอดการทำงานได้ โดยในแต่ละรุ่นมีนักศึกษาประมาณ 40-50 คนสำหรับระดับปริญญาเอก ได้เปิดการเรียนการสอนมาประมาณ 4 ปี และมีจุดแข็งที่สำคัญคือ เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในไทยที่หลักสูตรโลจิสติกส์อยู่ในศาสตร์ของการบริหาร ทำให้มีนักศึกษาให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยปีหนึ่งมีประมาณ 20 คน คนที่มาเรียนมีทั้งอาจารย์ นักธุรกิจ ส่วนคนที่มาสอนในระดับนี้จะเน้นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง มีประสบการณ์ “นอกจากจะมีความพร้อมเรื่องสถานที่แล้ว ในส่วนบุคลากรที่มาสอน ถือว่ามีความพร้อมมาก เพราะการเปิด 1 หลักสูตรต้องมีอาจารย์ 5 คน ที่จบด้านโลจิสติกส์ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยมีอาจารย์ที่จบปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านโลจิสติกส์ ประมาณ 60 คน และได้ขยายวิทยาเขตที่เปิดหลักสูตรโลจิสติกส์ อีก 3 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตระนอง วิทยาเขตอุดรธานี และ วิทยาเขตชลบุรี ซึ่งเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าผลิตนักปฏิบัติมืออาชีพด้านโลจิสติกส์ คือจบออกไปไม่ว่าแขนงไหนสามารถทำงานได้ทันที“